3.1.13

10 เทคนิคป้องกันภัยออฟฟิศซินโดรม (Slim Up)

ออฟฟิศซินโดรม


10 เทคนิคป้องกันภัยออฟฟิศซินโดรม (Slim Up)
 

        หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ในตอนเช้าไม่ค่อยได้รับวิตามินดีจากแสงแดดสักเท่าไหร่ แล้วไหนจะออกจากออฟฟิศหลังพระอาทิตย์ตกดินอีก ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ แต่ในห้องปรับอากาศหรือแม้ช่วงเที่ยงยังนั่งทานกลางวันที่โต๊ะทำงานอีก โปรดระวังสักนิดเพราะคุณกำลังเสี่ยงต่อการเป็นออฟฟิศซินโดรมอย่างมาก และถ้าหากคุณมีอาการจำพวกนี้ควบคู่ไปด้วยล่ะก็ คุณกำลังเสี่ยงต่อโรคนี้อย่างแน่นอน

        กระดูก ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดข้อมือและข้อนิ้วมือ หมอนรองกระดูกเคลื่อน

        ดวงตา ปวดตา เคืองตา ดุนตา ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน ตาแห้ง น้ำตาไหล ตากระตุก

        สมอง ปวดศีรษะ สมองตื้อ มึนงง

        หากคุณกำลังมีลักษณะของอาการเช่นนี้อย่าได้ชะล่าใจเป็นอันขาด เพราะอาการเหล่านี้มักเป็นสัญญาณร้ายของโรคที่มนุษย์ออฟฟิศต้องเผชิญกัน อย่างถ้วนหน้า แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางแก้ไขซะเลย การออกกำลังกาย ก็เป็นสิ่งไม่ควรละเลย แนะนำว่าหลังตื่นนอนยืดกล้ามเนื้อหลังช่วงล่าง โดยนอนคว่ำแล้วพยายามยืดร่างกายบริเวณหลัง เกร็งไว้สักครู่

        สำหรับผู้ที่อยู่ในอิริยาบถเดิมนาน ๆ เพื่อใช้คอมพิวเตอร์ หรือหนีบหูคุยโทรศัพท์ อาจมีอาการดึงบริเวณไหล่ ต้นคอ หลัง จึงควรยืดกล้ามเนื้อด้วยการใช้มือจับ ศีรษะ จากนั้นค่อย ๆ ต้นศีรษะกับฝ่ามือในทิศทางที่สวนทางกัน ทำสลับทั้งด้านซ้าย-ขวา, หน้า-หลัง ถ้ามีอาการเหนื่อยล้าจากการนั่งหรืออยู่ในท่าทางเดิมนานๆ ให้บริหารท่าแอ่นหน้าอกและแอ่นหลัง ยืดแขนออกจนสุดโดยให้ข้อมืออยู่ในระดับเอว จะช่วยยืดกล้ามเนื้อให้ผ่อนคลายยิ่งขึ้น และที่สำคัญกับทิปส์ง่ายๆ ที่นำมาฝากกันดังต่อไปนี้

1. นั่งทำงานและใช้คอมพิวเตอร์อย่างปลอดภัย

        • นั่งเล่นตรงแนบติดกับเก้าอี้ ลำตัวเป็นมุมฉากกับขาช่วงบน เท้าทั้งสองวางแนบกับพื้นพอดี

        • จอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ห่างจากระดับสายตาพอดี มือ แขนช่วงล่าง และคีย์บอร์ดอยู่แนวระนาบเดียวกัน ปล่อยไหล่เป็นธรรมชาติขณะพิมพ์งาน

        •    ระยะห่างของสายตาและหน้าจอประมาณ 2 ฟุต ปรับความสว่างหน้าจอให้เท่ากับความสว่างจากด้านนอก อย่าให้มีแสงจ้าเข้าทางข้างหลัง ผู้ใช้งาน และพักสายตาบ่อย ๆ

2. ท่ายืน ไม่ยืนลงน้ำหนักบนข้างเดียว หรือยืนแอ่น/หลังค่อม

3. ท่านอน ไม่นอนขดตัวหรือนอนตะแคงนาน ๆ โดยไม่มีหมอนข้างช่วย

4. รองเท้า ไม่ควรใส่ส้นสูงเกินครึ่งนิ้ว หรือเมื่อมีความจำเป็นควรถอดออกบ้างและนวดที่ปลายเท้าเบา ๆ ในลักษณะของการคลึงจากปลายเท้าเข้าสู่ปลายนิ้ว

5. กระเป๋า ไม่ควรสะพายกระเป๋าหนักในข้างเดียวเป็นระยะเวลานานๆ ควรเปลี่ยนด้านสะพายบ้างเพื่อให้หัวไหล่ได้ปรับความสมดุลและไม่ควรหิ้วของ หนักโดยทิ้งน้ำหนักลงไปที่นิ้วอย่างเดียว

6. สายตา ไม่เล่นเกม หรือทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป ไม่อยู่กลางแดดจ้าหรือในที่ที่มีฝุ่น-ลมมากเกินไป

7. ออกกำลังกาย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือพยายามยืดแขนขาบิดตัวบ้างในขณะทำงานเพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อยืดตัวจนเกิน ไป

8. พักผ่อน พักและบริหารสายตาด้วยการกระพริบตาถี่ ๆ 10 ครั้งทุก 30 นาทีที่ใช้คอมพิวเตอร์ กำหนดลมหายใจออกเป็นช่วงๆ เพื่อปรับออกซิเจนเข้าสู่สมอง

9. อาหาร ใน 1 วันพยายามทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานอาหารให้หลากหลายขึ้น หรือทานวิตามินบำรุงควบคู่ไปด้วยยิ่งดี

10. สร้างบรรยากาศ ควรติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ และจะดียิ่งขึ้นถ้ามีตู้ปลาขนาดใหญ่ ๆ สักตู้ เพื่อช่วยคืนสมดุลความขึ้นที่เสียไปกับเครื่องปรับอากาศ

         จากการสำรวจพนักงานออฟฟิศในประเทศฝั่งยุโรปพบว่าส่วนใหญ่ต้องปรึกษาแพทย์ ด้วยอาการต่างๆ โดยอันดับหนึ่งคือ การปวดหลัง รองลงมามีอาการปวดบริเวณคอ/ไหล่ และปวดศีรษะตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะออฟฟิศ ชินโดรม นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มคนทำงานอายุระหว่าง 16-24 ปี มีความเสี่ยงของการเกิดภาวะดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 55 เนื่องจากต้องทำงานหนัก ประกอบอิริยาบถในการทำงานไม่เหมาะสม ทั้งนั่งหลังต่อม การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ สูงกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ

          นอกจากนี้ปัญหาความเครียดก็ส่งผลต่อการเกิดภาวะนี้ด้วย โดยพบสูงถึงร้อยละ 80 สำหรับประเทศไทย เคยสำรวจในคนทำงานที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งจำนวน 400 คนพบว่าร้อยละ 60 มีภาวะดังกล่าว

ออฟฟิศซินโดรม โรคร้ายที่บรรเทาได้

ออฟฟิศซินโดรม โรคร้ายที่บรรเทาได้

ใครที่เข้าข่ายเป็น "ออฟฟิสซินโดรม" ไม่ต้องตกใจ เพราะมั่นใจได้ว่า เกินครึ่งคนทำงานออฟฟิศเป็นโรคนี้แทบทุกคน เพียงแต่จะแสดงอาการถึงขั้นไหน อย่างที่ทราบว่า ไม่ตายในทันที แต่แสนทรมาน เพราะฉะนั้น เราควรรู้วิธีบำบัดและบรรเทา เพื่อให้รางวัลกับร่างกายตัวเองจากการทำงานหนักบ้าง

อาการแรกที่หลายคนเป็น คือ ปวดร้าวตั้งแต่คอไปจนถึงเอว หรือผู้หญิงบางคนที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ หิ้วกระเป๋า หรือโน้ตบุ๊คหนักเกินไป จะมีอาการปวดขา และไหล่ร่วมด้วย แพทย์อายุรเวทบอกเคล็ดลับให้นำไปปฏิบัติคือ
  1. ยืดกล้ามเนื้อประมาณ 10 นาที เมื่อใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกัน 2 ชั่วโมง
  2. วางแขนแนบโต๊ะทำงานตั้งแต่ศอกไปจนถึงข้อมือ เวลาใช้คีย์บอร์ด
  3. ใช้หมอนรองบริเวณหลังเวลานั่งเก้าอี้สำนักงาน เพื่อป้องกันการปวดหลัง
  4. เมื่อ อาการปวดเมื่อยเริ่มสำแดง งดออกกำลังกายที่หนักเกินไป แต่ควรใช้วิธีบริหาร หรือคลายกล้ามเนื้อแทน เช่น การว่ายน้ำ หรือเล่นโยคะ

อาการ "ตาแห้ง" สายตาพล่ามัว ปวดกล้ามเนื้อตา ใต้ตาคล้ำ อาการยอดฮิตอีกอย่าง แนะนำให้เมื่อกลับมาจากทำงาน นำแตงกวาหรือถุงชามาแปะไว้บนเปลือกตา หลับตาพักประมาณ 15 นาที หากใครรักสวยรักงามขึ้นมาอีกนิด แนะนำให้ฝานมันฝรั่งสดแปะใต้ดวงตาเป็นประจำจะช่วยลดอาการบวมและดำได้ชะงัด และที่สำคัญ อย่าลืมรับประทานผัก ที่มีวิตามินเอควบคู่ไปด้วย ใครที่ยังเข้าใจผิดคิดว่าผักบุ้งมีวิตามินเอมากที่สุด รู้ข้อมูลใหม่โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจัด 5 อันดับที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ นำลิ่วมาก่อนใคร คือ
(1) ตำลึง
(2) ผักหวาน
(3) แครอท
(4) ฟักทอง และ
(5) มะเขือเทศ

ส่วน ใครที่มีอาการขั้นรุนแรง เกินกว่าปวดเมื่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ คงต้องรีบปรึกษาแพทย์ อย่ารีรอให้โรคลุกลามไปสู่อาการหนัก แต่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันก่อนเกิด เพราะนอกจากเสียสุขภาพใจแล้ว ยังต้องมาเสียสุขภาพจิตตอนจ่ายเงินค่ารักษาอีกด้วย

ไอเรื้อรังส่อแวว 'มะเร็งปอด'

ไอเรื้อรังส่อแวว 'มะเร็งปอด'

กล่าว ถึง "มะเร็งปอด" ทีไร เป็นต้องนึกพ่วงภาพบุหรี่ขึ้นมาพร้อม ๆ กัน ก็บุหรี่ตัวร้ายนี่เอง เป็นสาเหตุทำให้ป่วยเป็นมะเร็งปอด เพราะผู้ป่วยด้วยโรคนี้ ร้อยละ 80 - 90 เป็นสิงห์อมควันกัน ที่ไม่ค่อยจะสนใจว่า บุหรี่แต่ละมวนจุสารพิษก่อมะเร็งไว้มากมาย อาทิ นิโคติน ตะกั่ว ทาร์ ในขณะที่ร้อย 10 - 15 ไม่สูบบุหรี่ แต่ถูกมะเร็งปอดเล่นงาน เพราะว่าสูดดมควันบุหรี่ หรือสูดดมสารเคมี เช่น แอสเบสตอส เป็นแร่ที่พบในโรงงานอุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์ สิ่งทอ แร่เรดอน ที่เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียมในใยหิน พบมากในเหมืองแร่

เมื่อ หยอดกระปุกสะสมสารก่อมะเร็งจนกินปอดไป นานวันเข้า ก็จะมีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ไอจับหืด หายใจลำบาก แน่นหน้าอก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เสียงแหบแห้ง เหล่านี้เป็น สัญญาณของมะเร็งปอด ที่มักจะพบในคนวัย 50 - 75 ปี ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คือ มะเร็งปอด เป็นมะเร็งชนิดที่จะตรวจพบในระยะลุกลาม หรือแพร่กระจาย ลดความสามารถในการรักษาให้หายได้ทันท่วงที ดังนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักเสียชีวิตลงในเวลา 1-2 ปี

สำหรับ การป้องกัน และลดความเสี่ยงที่ดีที่สุด คือ ไม่สูบบุหรี่ เลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ รวมทั้งสารเคมีต่าง ๆ ไม่สัมผัสแร่เรดอน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานผัก และผลไม้ให้เพียงพอ ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ควรเอ็กซเรย์ทรวงอก เพื่อตรวจหามะเร็งปอดเป็นประจำทุกปี

ด้านการรักษามะเร็งปอดมีทั้งการผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด และการรักษาแบบประคับประคอง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

วิตามินดี กับ แสงแดด

วิตามินดี กับ แสงแดด

ผู้หญิงจะรู้สึกเกรงกลัวแสงแดด เพราะรู้ดีว่าแสงแดดเป็นตัวการทำลายความงาม แถวหน้า ทำให้ผิว หมองคล้ำ เหี่ยวย่น รวมไปถึง ฝ้า กระ อีกสารพัน หากแต่หารู้ไม่ว่า การหลีกเลี่ยงแสงแดดมากเกินไป มีผลให้ร่างกายเกิดสภาวะโรคกระดูกพรุนได้ ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่ไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก กว่าจะรู้กระดูกก็เปราะบางไปเสียแล้ว

จึงอยากให้คิดใหม่ กลับมาตระหนักถึงประโยชน์ของแสงแดดอ่อน ๆ ในยามเช้า ที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดี ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามินดี ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพ ในการทำงานของแคลเซียม ทำให้กระดูกและฟันสมบูรณ์แข็งแรง

การสัมผัสแสงแดดอ่อน ๆ ในช่วงเช้า เพียง 10 -15 นาทีต่อวัน ก็เพียงพอ ที่จะช่วยให้ไม่เป็นโรคกระดูกพรุน

โรค กระดูกพรุนนั้น สาวๆ รุ่นใหม่ มีอัตราเป็นโรคนี้กันมากขึ้น ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะมีพฤติกรรมความเป็นอยู่ ที่เสี่ยงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดื่มกาแฟ การสูบบุหรี่ การบริโภคอาหารไม่ครบถ้วน หรือละเลยการออกกำลังกาย ส่งผลให้ร่างกายไม่มีการสะสมแคลเซียมเพิ่มเติม แคลเซียมในกระดูกที่มีอยู่ ก็เสื่อมสลายตัวไปเรื่อย ๆ จนทำให้โครงสร้างกระดูกเปราะบาง และแตกหักได้ง่าย

ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยง ที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนสูงกว่าผู้ชายหลายเท่า เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายที่แตกต่างกัน

ภาวะ ที่เนื้อกระดูกบางลง ทำให้ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน มักมีอาการปวดหลัง หลังค่อมโก่ง ปวดตามข้อ อาจมีอาการปวดบริเวณ ที่กระดูกยุบตัวลง กระดูกเปราะ และหักง่าย ผู้สูงอายุจึงต้องระวังการหกล้ม ตำแหน่งที่มักจะเกิดภาวะกระดูกพรุน และหักง่ายคือ กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก

กระดูกสันหลังของผู้หญิงอายุ 55 – 75 ปี จะเกิดการยุบตัวมากกว่าในผู้ชาย ทำให้ผู้สูงอายุเตี้ยลงกว่าตอนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุ ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงพบว่า เมื่ออายุมากกว่า 60 ปี พบอัตราการเกิดกระดูกสันหลังหักยุบถึงร้อยละ 30

กระดูกสะโพกหักมัก ต้องผ่าตัดรักษา กระดูกสะโพกหักอาจทำให้เดินไม่ได้หรือเสียชีวิตได้ โรคนี้เปรียบเหมือนภัยมืด ค่อยเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ กว่าจะรู้ตัวก็กระดูกหักเสียแล้ว

วิธี ที่ดีที่สุดคือ "ต้องสะสมกระดูกไว้ให้มากที่สุด ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยรับประทานอาหาร ที่มีคุณค่าให้แคลเซียมสูง และออกกำลังกายสม่ำเสมอ"

การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การสะสมแคลเซียมให้กับกระดูกอย่างสม่ำเสมอ เริ่มต้นจากการรับประทานอาหาร ที่มีแคลเซียมสูง อาทิ ถั่วเหลือง ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อยต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายกลางแจ้ง เพื่อรับแสงแดดอ่อน ๆ ที่จะกระตุ้นให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีไปช่วยเสริมสร้างแคลเซียม

นอก จากนี้ ไม่ควรห่วงอ้วนมากจนเกินไป ต้องรับประทานไขมันบ้าง จำพวกไขมันชนิดดี ที่พบในปลาทะเล หรือน้ำมันจากเมล็ดพืช เพราะวิตามินดีจะละลายได้ดีในไขมัน เหล่านี้นอกจากจะช่วยละลายวิตามินดีแล้ว ยังช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื่น ไม่หยาบกระด้างอีกด้วย

ถ้าต้องการความสะดวก การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ช่วยเสริมแคลเซียมให้กับกระดูกก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

ใน ปัจจุบัน ถ้าใครต้องการรู้ว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุนหรือ ไม่ ต้องอาศัยเครื่องตรวจความหนาแน่นกระดูกเข้ามาช่วย โดยการทำงานของเครื่องจะเอ็กซ์เรย์มวลกระดูกบริเวณ ข้อมือ หรือ ข้อเท้า แล้วประมวลผลออกมาเป็นกราฟ ชึ้ให้เห็นสภาวะของกระดูกได้อย่างชัดเจน ส่วนใหญ่จะมีบริการอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ และมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

อาการ "ปวดหัว" ที่ไม่ควรมองข้าม

อาการ "ปวดหัว" ที่ไม่ควรมองข้าม




5 อาการปวดหัวที่ต้องเจอหมอ!


ข้อควรระวังอย่างมองข้ามอาการปวดศีรษะที่หาสาเหตุไม่ได้ ควรรีบไปแพทย์ทันทีถ้าอาการปวดศีรษะในลักษณะต่อไปนี้...
  • เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในทันที
  • เกิดพร้อมอาการไข้ คอแข็ง เป็นผื่น สับสน ชัก เห็นภาพซ้อน อ่อนเพลีย ชา หรือพูดลำบาก
  • เกิดจากการเจ็บคอ หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
  • รุนแรงขึ้นหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หกล้ม หรือถูกกระแทก
  • ไม่เคยเป็นมาก่อน และผู้ป่วยอายุมากว่า 55 ปี
ไม่อยากปวดศีรษะ

การกิน การดื่ม หรือการทำกิจกรรมบางอย่างมีส่วนทำให้คุณปวดศีรษะหรือเปล่า คนที่ไม่อยากปวดศีรษะควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเร้าเหล่านี้ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน ที่พบบ่อย คือ
  • แอลกอฮอล์ ไวน์แดง
  • การสูบบุหรี่
  • ความเครียด หรืออาการอ่อนเพลีย
  • สายตาล้า
  • การมีกิจกรรมทางเพศ หรือการออกกำลังกายต่าง ๆ
  • การวางท่าทางของร่างกายที่ไม่ถูกต้อง
  • เปลี่ยนเวลานอน หรือเปลี่ยนเวลาอาหาร
  • อาหาร บางชนิด เช่น อาหารหมักดอง กล้วย กาเฟอีน เนยแข็งที่ทิ้งไว้นาน ช็อกโกแลต ผลไม้ประเภทส้มและมะนาว สารปรุงแต่งอาหาร (โซเดียมไนไตรต์ในฮ็อตด็อก ไส้กรอก เนื้อวัว ผงชูรสในอาหารสำเร็จรูป) และเครื่องปรุงรสอื่น ๆ ถั่วและเนยถั่ว พิซซ่า ลูกเกด ขนมปังที่ใส่เชื้อหมักให้ฟู
  • สภาพภูมิอากาศ ระดับความสูงของภูมิประเทศ หรือการเดินทางข้ามเขตเวลาที่ต่างกันมาก ๆ
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในรอบประจำเดือนหรือการหมดประจำเดือน การกินยาเม็ดคุมกำเนิด หรือการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน
  • แสงจ้าหรือแสงกะพริบ
  • กลิ่นจากน้ำหอม ดอกไม้ หรือน้ำมันรถ
  • มลภาวะในอากาศ หรือห้องที่อยู่กันอย่างแออัด
  • เสียงที่ดังมากเกินไป


ที่มา
โรงพยาบาลวิภาวดี

ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร



" ฟ้าทะลายโจร " กับไข้หวัด ฟ้าทะลายโจรเป็นยาที่มีความหมายในตัวเองไม่น้อย เพราะแม้แต่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ฟ้าประทานมาให้ปราบโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนเหล่าโจรร้าย ส่วนในภาษาจีนกลาง ยาตัวนี้มีชื่อว่า "ชวนซิเหลียน" แปลว่า "ดอกบัวอยู่ในหัวใจ" ซึ่งมีความหมายสูงส่งมาก วงการแพทย์จีนได้ยกฟ้าทะลายโจรขึ้นทำเนียบ เป็นยาตำราหลวง ที่มีสรรพคุณโดดเด่นมากตัวหนึ่ง ที่สำคัญ คือ สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวเพียงตัวเดียวก็มีฤทธิ์แรงพอที่จะรักษาโรคได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในสมุนไพรตัวอื่น ชื่ออื่น ๆ ของฟ้าทะลายโจร ได้แก่ หญ้ากันงู (สงขลา) น้ำลายพังพอน ฟ้าสาง (พนัสนิคม) เขยตายยายคลุม สามสิบดี (ร้อยเอ็ด) เมฆทะลาย (ยะลา) ฟ้าสะท้าน (พัทลุง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ฟ้า ทะลายโจรเป็นไม้ล้มลุก สูง 30 - 70 ซม. ทุกส่วนมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบ เดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่ง และซอกใบ ดอกย่อย กลีบดอกสีขาว โคนกลีบติดกัน ปลายแยก 2 ปาก ปากบนมี 3 กลีบ มีเส้นสีม่วงแดงพาดอยู่ ปากล่างมี 2 กลีบ ผล เป็นฝัก เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล แตกได้ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ส่วนที่ใช้เป็นยา ได้แก่ ทั้งต้น ใบสด ใบแห้ง ใบจะเก็บมาใช้ เมื่อต้นมีอายุได้ 3 - 5 เดือน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

ใบ ฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสาระสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone คือ สารแอดโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide) 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide)
ฟ้าทะลายโจรเป็นยาเก่าแก่ของประเทศ จีน ใช้ในการรักษาฝี แก้อักเสบ และรักษาโรคบิด การวิจัยด้านเภสัชวิทยาพบว่า ฟ้าทะลายโจรสามารถยับยั้ง เชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของการเป็นหนองได้ และมีการศึกษาวิจัยของโรงพยาบาลบำราศนราดูร ถึงฤทธิ์ในการรักษาโรคอุจจาระร่วงและบิด แบคทีเรีย เปรียบเทียบกับ เตตราซัยคลิน ในผู้ป่วย 200 ราย อายุระหว่าง 16 - 55 ปี ได้มีการเปรียบเทียบ ระยะเวลาที่ถ่ายอุจจาระเหลว จำนวนอุจจาระเหลว น้ำเกลือที่ให้ทดแทนระหว่างฟ้าทะลายโจร กับเตตราซันคลิน พบว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ลดจำนวนอุจจาระร่วงและจำนวนน้ำเกลือ ที่ให้ทดแทนอย่างน่าพอใจ แม้ว่าจากการทดสอบทางสถิติ จะไม่มีความแตกต่างทางนัยสำคัญก็ตาม

ส่วนการลด เชื้ออหิวาตกโรคในอุจจาระ ฟ้าทะลายโจรไม่ได้ผลดีเท่าเตตราซัยคลิน นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลชุมชนบางแห่ง ได้ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาอาการเจ็บคอได้ผลดีอีกด้วย มีฤทธิ์เช่นเดียวกับเพนนิซิลิน เมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบัน เท่ากับเป็นการช่วยให้มีผู้สนใจทดลองใช้ยานี้รักษาโรคต่าง ๆ มากขึ้น

ฟ้า ทะลายโจรมีกลไกการออกฤทธิ์ 3 ประการ ได้แก่ ฤทธิ์ลดไข้ ต้านการอักเสบ และลดอาการจากการหวัด พบว่ามีฤทธิ์ลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส และทำให้ความสามารถของเชื้อไวรัสในการเกาะติดกับผนังเซลล์ลดลง ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ยากขึ้น นอกจานี้ฟ้าทะลายโจรยังมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้มีร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น

ฟ้า ทะลายโจรเป็นยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ของประเทศไทย โดยมีข้อบ่งใช้ในการบรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น อาการเจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล และบรรเทาอาการท้องเสียชนิดไม่ติดเชื้อ

ความปลอดภัย

ฟ้า ทะลายโจรมีการทดสอบความเป็นพิษ ที่ครบถ้วนทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ พิษเฉียบพลัน พิษกึ่งเรื้อรัง และพิษเรื้อรัง พบว่า ฟ้าทะลายโจรมีความปลอดภัยในการรับประทานในระยะยาว ข้อควรรู้เกี่ยวกับตำรับยา สารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) สารในต้นฟ้าทะลายโจร ละลายในแอลกอฮอร์ได้ดีมาก ละลายในน้ำได้น้อย ดังนั้นยาทิงเจอร์ หรือยาดองเหล้าฟ้าทะลายโจร จึงมีฤทธิ์แรงที่สุด ยาชงมีฤทธิ์แรงรองลงมา ยาเม็ดมีฤทธิ์อ่อนที่สุด

ตามทฤษฏีการแพทย์แผนไทย และแผนจีนจัดฟ้าทะลายโจรเป็น "ยารสเย็น" หมายถึง เมื่อรับประทานฟ้าทะลายโจรแล้ว ทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง จึงนำมาใช้เป็นยาลดไข้ ซึ่งเมื่อรับประทานยาเย็นติดต่อกันนาน ๆ แต่นานเท่าใด ในทางการแพทย์ไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากขึ้นกับธาตุพื้นฐานของร่างกาย ถ้าร่างกายมีความเย็นมากก็อาจเกิดได้เร็ว แต่ถ้าร่างกายมีความร้อนสะสมมากก็อาจจะเกิดช้า ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ แขนขาชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือความเข้มข้นของเลือดลดลง อาการต่าง ๆ เหล่านี้สามารถกลับมาสู่ปกติได้ เมื่อหยุดรับประทานยารสเย็น ซึ่งจากรายงานการวิจัยต่าง ๆ ของฟ้าทะลายโจร ก็ไม่พบผลข้างเคียงดังกล่าว

ข้อบ่งใช้
  • ฟ้า ทะลายโจรควรใช้ เมื่อมีอาการของหวัดอาการใดอาการหนึ่ง เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือมีน้ำมูก โดยอาการเจ็บคอรับประทานครั้งละ 3 - 6 กรัม วันละ 4 ครั้ง ส่วนการบรรเทาอาการหวัดให้รับประทานครั้งละ 1.5 - 3 กรัมวันละ 4 ครั้ง โดยแนะนำให้รับประทานติดต่อกันไม่เกิน 7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์
  • ระงับอาการอักเสบ หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ
  • รักษาอาการปวดท้อง ท้องเสีย บิด และกระเพาะลำไส้อักเสบ
  • เป็นยาขมเจริญอาหาร
ข้อห้ามใช้
  • ใน ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ เนื่องจากติดเชื้อ Streptococcus group A ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มนี้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ไข้รูห์มาติค โรคหัวใจรูห์มาติค และไตอักเสบ
  • ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคไตอักเสบเนื่องจากเคยติดเชื้อ Streptococcus group A
  • ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจรูห์มาติค
  • ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีอาการรุนแรง เช่น มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น
ข้อควรระวัง
  • ฟ้า ทะลายโจรอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเดิน ปวดเอว หรือวิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ในผู้ป่วยบางราย หากมีอาการดังกล่าว ควรหยุดใช้ฟ้าทะลายโจร
  • หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชา หรืออ่อนแรง
  • หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วไม่หาย หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้ และไปพบแพทย์
  • สตรี มีครรภ์ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจร การที่ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ และให้นมบุตร เนื่องจากมีการศึกษาในหนูทดลอง พบว่า น้ำต้มฟ้าทะลายโจรมีผลทำให้หนูแท้งได้
  • แม้ ว่าฟ้าทะลายโจรจะมีประโยชน์ในการรักษาโรคอย่างกว้างขวาง และดูเหมือนจะมีพิษน้อย แต่เนื่องจากเป็นยาเย็นจัด การกินฟ้าทะลายโจรรักษาโรคนาน ๆ ติดต่อกันหลายปี อาจจะเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย แขนขาไม่มีแรง เป็นต้น
การปลูกฟ้าทะลายโจร

การ ปลูกฟ้าทะลายโจรทำได้หลายวิธี ได้แก่ แบบหว่าน ซึ่งสิ้นเปลืองเมล็ด และให้ผลผลิตน้อย แบบโรยเมล็ดเป็นแถว ประมาณ 50-100 เมล็ดต่อความยาวร่อง 1 เมตร แบบหยอดหลุม ระยะระหว่างต้น 20-30 ซม. ระหว่างแถว 40 ซม. หยอดเมล็ดหลุมละ 5-10 เมล็ด หรืออาจปลูกโดยใช้กล้า จะให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าการปลูกโดยสามวิธีแรก สำหรับการเก็บเกี่ยว ช่วงที่พืชออกดอกนับตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงดอกบาน 50% เพื่อให้มีปริมาณสารสำคัญสูง ซึ่งพืชจะมีอายุประมาณ 110-150 วัน

การ ทำความสะอาด ให้นำฟ้าทะลายโจรมาล้างน้ำให้สะอาด ตัดให้มีความยาว 3-5 ซม. ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาเกลี่ยบนกระด้ง หรือถาดที่สะอาด การทำให้แห้ง อบที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียสใน 8 ชั่วโมงแรก ต่อไปใช้อุณหภูมิ 40 - 50 องศาเซลเซียส อบจนแห้งสนิท หรือตากแดดจนแห้งสนิท ทั้งนี้ควรคลุมภาชนะด้วยผ้าขาวบาง


ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

รอบรู้เรื่องโรคไซนัส และไซนัสอักเสบ


เมื่อเป็นไซนัสอักเสบ

อ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ
      ภ.โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
             “ฮัดเช้ย…ฮัดเช้ย…อยากรู้จังเลยว่าใครเอ่ยถึงฉัน ถึงได้จามอยู่ได้ตลอดวัน” 
                 เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมเราถึงเป็นหวัดคัดจมูก น้ำมูกไหลนานไม่หายสักที ไอติดต่อกันหลายสัปดาห์ แถมยังปวดฟันกรามด้านบน ปวดศีรษะ ลมหายใจไม่สดชื่นมีกลิ่นตุๆ ทั้งๆ ที่แปรงฟันเป็นอย่างดี หากมีอาการเหล่านี้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็น “ไซนัสอักเสบ” ฟังดูคงคุ้นหู แต่ทราบหรือไม่ว่าหมายถึงอะไร พบคำตอบกันเลยครับ

รู้จัก “ไซนัส”
                 ไซนัส หมายถึงโพรงอากาศที่อยู่รอบ ๆ โพรงจมูกเราทั้งซ้ายและขวา โดยปกติคนเรามีโพรงไซนัสทั้งหมด 4 แห่ง คือ บริเวณระหว่างตาทั้งสองข้าง บริเวณแก้ม บริเวณหน้าผาก และบริเวณในสุดของรูจมูกและที่ใต้ฐานกะโหลก โพรงอากาศนี้เป็นที่โล่ง ๆ ในกะโหลกศีรษะ แต่ละโพรงอากาศจะมีรูระบายอากาศตามธรรมชาติโพรงละ 1 รู ซึ่งจะระบายเข้าสู่โพรงจมูก และเมื่อเยื่อบุโพรงไซนัสมีการอักเสบ เราจึงเรียกว่า “ไซนัสอักเสบ”
อาการนำของไซนัสอักเสบ
           1.  คัดจมูก น้ำมูกข้นเขียวหรือเหลือง
           2.  หายใจมีกลิ่นเหม็น
           3.  ปวดศีรษะ ปวดขมับ ปวดแก้ม ปวดท้ายทอย หนักหัว
           4.  เสมหะข้นไหลลงคอ ไอบ่อย
           5.  เลือดออกทางจมูก (พบในบางราย)
           6.  รายที่เป็นรุนแรงอาจมีไข้สูง ตาบวมอักเสบได้ เป็นต้น

สาเหตุการเกิดโรค
           1.  เกิดตามหลังอาการไข้หวัด เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในรายที่เป็นหวัดแล้วไม่พักผ่อนอย่างเพียงพอ การดำน้ำลึก หรือกระโดดน้ำ อาจทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการไซนัสอักเสบอยู่เดิมเกิดกำเริบได้
           2.  เป็นโรคภูมิแพ้
           3.  โรคริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอกในโพรงจมูก
           4.  ฟันกรามแถวบนอักเสบ
           5.  มีสิ่งแปลกปลอมเข้ารูจมูก อาทิ ลูกปัด เม็ดถั่วเขียว พบมากในเด็ก
           6.  ประสบอุบัติเหตุกระดูกใบหน้าแตกร้าว ต่อมอะดินอยต์มีขนาดโตและติดเชื้อ
           7.  ผนังจมูกคด
รักษาอย่างไร
           ไซนัสอักเสบบางชนิดรักษาให้หายขาดได้ บางชนิดอาจรักษาหายแต่โอกาสกลับมาเป็นใหม่มีสูง ทางที่ดีที่สุด คือ ผู้ป่วยต้องรีบมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรปล่อยให้เรื้อรัง โดยทั่วไปการรักษาทำได้หลายวิธี ได้แก่ การรักษาด้วยยา – ยาปฏิชีวนะ ยาลดบวมของเยื่อจมูก เป็นต้น โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อยประมาณ 14 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและชนิดของเชื้อ กรณีอาการไม่ดีขึ้นแม้จะรักษาด้วยยาเต็มที่แล้วก็ตาม รวมทั้งมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนยาหรือตรวจเพาะเชื้อจากหนองในไซนัสร่วมกับการผ่าตัด

            ปัจจุบันการผ่าตัดไซนัสนิยมผ่าตัดผ่านทางจมูกโดยใช้กล้องส่องเพราะเป็นวิธี ที่ปลอดภัยและได้ผลดี และผู้ป่วยไม่มีบาดแผลจากการผ่าตัดบริเวณใบหน้า นอกจากการรักษาที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ป่วยยังต้องได้รับการรักษาที่สาเหตุและประคับประคองไปด้วย เช่น ถ้ามีภูมิแพ้หรือริดสีดวงจมูกร่วมด้วย อาจต้องใช้ยาพ่นจมูก หรือถ้ามีผนังกั้นช่องจมูกคดอาจต้องผ่าตัดแก้ไข เป็นต้น
ทำอย่างไรจึงไม่กลับไปเป็นอีก
            การรักษาไซนัสอักเสบต้องอาศัยเวลา ผู้ป่วยต้องไม่ใจร้อน หรือหากได้รับการรักษาไปเพียงหนึ่งสัปดาห์แต่อาการดีขึ้นรู้สึกเป็นปกติก็ อย่าชะล่าใจเพราะท่านอาจยังไม่หายดี ควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันอาการกำเริบ ในรายที่แม้จะรับการรักษาติดต่อกันเป็นเวลานานก็ไม่หายสักที หรือเป็นซ้ำ ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงเพื่อรับการรักษาต่อไป

รู้หลักปฏิบัติดูแลตนเองเมื่อเป็นไซนัสอักเสบ
           1.  พักผ่อนเพียงพอ
           2.  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่หักโหม
           3.  หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำเมื่อมีอาการคล้ายหวัดกำเริบ
           4.  หลีกเลี่ยงภาวะอุณหภูมิแปรเปลี่ยนฉับพลัน
            5.  ถ้ามีอาการมากขึ้นควรรีบพบแพทย์ รับประทานยา และติดตามการรักษาสม่ำเสมอ
         เห็นมั้ยครับว่า “ไซนัสอักเสบ” ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงท่านหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และเมื่อเป็นแล้วก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด แล้วท่านก็จะหายใจโล่ง โปร่งสบายครับ.

ไซนัสอักเสบ…รักษาได้  
                                    รศ. นพ. ปารยะ   อาศนะเสน
สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล   
คำจำกัดความ
โรคไซนัสอักเสบคือ การอักเสบของเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูก หรือที่เราเรียกว่า “ไซนัส” ซึ่งอาจเป็นเพียงหนึ่งไซนัส หรือหลายไซนัส เป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้   อาจจะเป็นการอักเสบติดเชื้อหรือการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อก็ได้     

 ไซนัสคืออะไร และมีหน้าที่อะไร
ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ภายในกระดูกบริเวณรอบๆ หรือใกล้เคียงกับจมูก ซึ่งมีอยู่ 4 กลุ่มใหญ่ๆ ในแต่ละข้าง  ไซนัสที่ใหญ่ที่สุดอยู่ภายในกระดูกโหนกแก้ม (maxillary sinus)  อีกกลุ่มหนึ่งมีอยู่หลายโพรง มีขนาดเล็ก และอยู่ระหว่างบริเวณโคนจมูก และหัวตาแต่ละข้าง (ethmoidal sinuses)  ในกระดูกหน้าผากก็มีไซนัสภายใน (frontal sinus) นอกจากนั้นยังมีไซนัสที่อยู่ใต้ฐานกะโหลกศีรษะ (sphenoidal sinus) ด้วย  หน้าที่ของไซนัสนั้นไม่ทราบแน่ชัด  แต่เชื่อว่าอาจช่วยทำให้เสียงที่เราเปล่งออกมา กังวานขึ้น, ช่วยทำให้กะโหลกศีรษะเบาขึ้น และช่วยรักษาสมดุลของศีรษะ, ช่วยในการปรับความดันของอากาศภายในโพรงจมูก  ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของความดัน และสร้างสารคัดหลั่งที่ป้องกันการติดเชื้อของโพรงจมูกและไซนัส

ความสำคัญของโรคไซนัสอักเสบ
โรคไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่    ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคนี้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง   โรคไซนัสอักเสบนั้นมักไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง เนื่องจากอาการของโรคไซนัสอักเสบมักไม่เฉพาะเจาะจง  ทำให้แยกได้ยากจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนเช่น จมูกอักเสบหรือหวัด    โรคไซนัสอักเสบมีตั้งแต่หายได้เองโดยไม่ต้องรักษา เช่น ไซนัสอักเสบตามหลังหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสและเป็นไม่มาก  ไปจนถึงไซนัสอักเสบที่ต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่นไซนัสอักเสบที่มีภาวะแทรกซ้อนที่ตาและสมอง
โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก  อาจเกิดไซนัสอักเสบเฉียบพลันเป็นๆ หายๆ  หรือเกิดไซนัสอักเสบเรื้อรัง  หรือมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น เยื่อบุหูชั้นกลางอักเสบ, ริดสีดวงจมูก, ท่อยูสเตเชียน (ที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก) ทำงานผิดปกติ, ภาวะแทรกซ้อนทางตา หรือสมอง เช่นฝีในลูกตาหรือสมอง,  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ          ถ้าผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ได้รับการวินิจฉัย และได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมในระยะเริ่มแรก จะช่วยลดอุบัติการของการกลับเป็นซ้ำหรือ การเป็นเรื้อรัง และลดอุบัติการของภาวะแทรกซ้อนและการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาได้         

อุบัติการ
โรคไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์  ประมาณกันว่าประชากรทั่วไป 1 ใน 8 คน  จะเป็นโรคไซนัสอักเสบในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต  อุบัติการของการเกิดไซนัสอักเสบ   มีแนวโน้มที่เกิดมากขึ้นในฤดูกาลที่มีคนเป็นไข้หวัดหรือมีการอักเสบติดเชื้อ ในทางเดินหายใจมาก  อุบัติการของไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียใน ผู้ใหญ่ที่เกิดตามหลังไข้หวัดพบได้ประมาณร้อยละ 0.5-2 และในเด็กพบได้ประมาณร้อยละ 5-10   สำหรับโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังนั้น  ในกลุ่มประชากรทั่วไปพบโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังประมาณร้อยละ 1.2-6  

สาเหตุของไซนัสอักเสบ
1.       การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของไซนัสอักเสบชนิด   เฉียบพลัน
2.       การติดเชื้อของฟันกรามแถวบน มักทำให้เป็นไซนัสอักเสบข้างเดียว
3.       การว่ายน้ำ – ดำน้ำ โดยเฉพาะขณะมีการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน
4.       สิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก มักทำให้เป็นไซนัสอักเสบข้างเดียว โดยเฉพาะในเด็ก
5.       การเปลี่ยนแปลงความดันของบรรยากาศภายนอกอย่างรวดเร็ว
6.       อุบัติเหตุของกระดูกบริเวณใบหน้า
7.       ปัจจัยที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่นบริเวณที่ ฝุ่น ควัน หรือสิ่งระคายเคืองมาก
8.       ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันและภูมิต้านทานของร่างกาย เช่นภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีภูมิต้านทานต่ำ
9.       ปัจจัยที่เกี่ยวกับการถ่ายเทและการระบายสารคัดหลั่งและอากาศของไซนัส ได้แก่ โรคหรือภาวะใดก็ตามที่ทำให้มีการอุดตันหรือรบกวนการทำงานของรูเปิดของไซนัส เช่น
9.1)      มีการบวมของเยื่อบุจมูกบ่อยๆ หรือเป็นเรื้อรังเนื่องจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และชนิดไม่แพ้, การสูบบุหรี่ หรือสูดควันบุหรี่, การสัมผัสกับมลพิษเป็นประจำ 
9.2)      มีผนังกั้นช่องจมูกคดงอ
9.3)      กระดูกที่ผนังด้านข้างโพรงจมูกมีขนาดใหญ่มาก จนไปอุดตันรูเปิดของไซนัส
9.4)      มีก้อนเนื้อในโพรงจมูกหรือไซนัส เช่น  ริดสีดวงจมูก  เนื้องอกในโพรงจมูกหรือไซนัส
9.5)      ในเด็กเล็ก อาจมีต่อมแอดีนอยด์โต หรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูกเป็นเวลานาน
9.6)      ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจทางจมูก หรือต้องคาสายให้อาหารในโพรงจมูกเป็นระยะเวลานาน
9.7)      ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของขนกวัดที่ทำหน้าที่กำจัดสารคัดหลั่งและสิ่งแปลกปลอม
ในโพรงจมูกและโรคไซนัสเช่น มีการทำงานที่ผิดปกติไป

ไซนัสอักเสบเกิดได้อย่างไร
ไซนัสจะมีช่องทางติดต่อกับโพรงจมูก    โดยผ่านทางรูเปิดธรรมชาติ      โรคไซนัสอักเสบเกิดจาก การอุดกั้นของรูเปิดระหว่างจมูกและไซนัสดังกล่าว  ทำให้มีการคั่งของสารคัดหลั่งภายในไซนัส   ทำให้กลไกการพัดโบกของขนกวัดที่เยื่อบุไซนัสผิดปกติไป และอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน   หรือร่างกายไม่สามารถสร้างสารคัดหลั่งของไซนัสที่ดีและมีคุณภาพในการต่อต้าน การติดเชื้อได้ ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุไซนัสตามมา
โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันหมายถึงมีการอักเสบของเยื่อบุไซนัสที่ เปนมานอยกวา 4       สัปดาห และอาการหายไปอยางสมบูรณ     ส่วนไซนัสอักเสบเรื้อรังคือ การที่มีเยื่อบุของไซนัสอักเสบเป็นระยะเวลามากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไปทั้งๆ ที่ให้การรักษาโดยการให้ยาเต็มที่แล้ว                   พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในเยื่อบุไซนัสของผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรังนั้น  พบว่ามีการอักเสบและการทำลายของเยื่อบุไซนัส และสูญเสียขนกวัดที่ทำหน้าที่กำจัดสารคัดหลั่งและสิ่งแปลกปลอม

การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ
การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ อาศัยประวัติ, การตรวจร่างกาย และ การสืบค้นเพิ่มเติม  
ประวัติที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่  เป็นหวัดมานานมากกว่า 7-10 วัน,  เป็นหวัดที่มีอาการรุนแรงมาก,  ไข้สูง,  คัดจมูก, มีน้ำมูกเหลืองข้น,  ได้กลิ่นลดลง, ปวดหรือตื้อทึบบริเวณโหนกแก้มคล้ายปวดฟันบน, ปวดรอบๆจมูก  หัวคิ้ว หรือหน้าผาก, เจ็บคอ, เสมหะไหลลงคอ, ไอ, ปวดศีรษะ, อาการทางจมูกที่ไม่ดีขึ้นหลังให้ยาหดหลอดเลือด  โดยมีอาการดังกล่าวภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน   ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังมักมีอาการไม่เฉพาะเจาะจงเช่น คัดจมูก, การรับกลิ่นลดลงหรือไม่ได้กลิ่น, มีน้ำมูกสีเขียวเหลืองในจมูกหรือไหลลงคอ, ปวดศีรษะ, มีกลิ่นปาก, ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น, ลิ้นเป็นฝ้า, คอแห้ง, มีเสมหะในคอ, เจ็บคอ ระคายคอเรื้อรัง, ไอ, ปวดหูหรือ หูอื้อ  อาจแยกได้ยากจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้
ลักษณะที่พบจากการตรวจร่างกายที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบเฉียบ พลัน ได้แก่ มีการกดเจ็บบริเวณไซนัสที่อักเสบ, เห็นน้ำมูกเหลืองข้นไหลลงคอ, เยื่อบุจมูกที่อักเสบบวมแดงมาก หรือมีหนองคลุม    ส่วนโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังนั้นมักจะไม่มีอาการกดเจ็บบริเวณไซนัส  การตรวจในช่องจมูกอาจพบน้ำมูกเหลืองในจมูกหรือโพรงหลังจมูก และเยื่อบุจมูกที่อักเสบบวมได้ 
การสืบค้นเพิ่มเติมที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ ได้แก่ การส่งถ่ายภาพรังสีไซนัส             การส่งทำเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) บริเวณจมูกและไซนัส ซึ่งมีประโยชน์ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนของโรคไซนัสอักเสบ ,  ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันเป็นๆ หายๆหรือ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง และก่อนทำการผ่าตัดรักษาไซนัสอักเสบด้วยกล้องเอ็นโดสโคป         การใช้กล้องเอ็นโดสโคปส่องตรวจในโพรงจมูก ดูรูเปิดของไซนัสว่ามีหนองไหลออกมาหรือไม่ ก็มีประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัยโรค    นอกจากนั้นการส่องกล้องยังช่วย เก็บสารคัดหลั่ง หรือหนอง เพื่อส่งตรวจหาเชื้อและความไวต่อยาต้านจุลชีพ,  หาความผิดปกติทางกายวิภาคที่เป็นสาเหตุของโรคไซนัสอักเสบ และช่วยในการผ่าตัดโดยทำให้เห็นบริเวณที่ผ่าตัดชัดขึ้น และช่วยในการติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยด้วย

การรักษาโรคไซนัสอักเสบ
จุดมุ่งหมายของการรักษาไซนัสอักเสบคือ บรรเทาอาการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และป้องกันภาวะแทรกซ้อน หรือการกลับเป็นซ้ำของโรค
หลักในการรักษาโรคไซนัสอักเสบ ประกอบด้วย
1.       กำจัดเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ  โดยการ ให้ยาต้านจุลชีพ  เพื่อทำให้อาการของโรคดีขึ้นเร็ว   การเลือกชนิดของยาต้านจุลชีพขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ, การดำเนินโรค,  ความไวต่อยาต้านจุลชีพของเชื้อนั้นๆ และ อุบัติการของการดื้อยา     ระยะเวลาของการให้ยาต้านจุลชีพนั้น  ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันควรให้ยาต้านจุลชีพอย่างน้อย 10-14 วัน หรือให้จนผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติแล้วให้ต่ออีก 1 สัปดาห์หลังจากนั้น     ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังควรให้ยาต้านจุลชีพเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3-6 สัปดาห์
2.       ทำให้การไหลเวียนของสารคัดหลั่งและอากาศภายในไซนัสดีขึ้น
2.1      ยาหดหลอดเลือด ทำให้การบวมของเยื่อบุจมูกลดลง,  บรรเทาอาการคัดจมูก ทำให้รูเปิดของไซนัสโล่งขึ้น  อาจให้ในรูปยาพ่นหรือยาหยอดจมูก หรือ ยารับประทาน หรือให้ร่วมกันทั้งสองชนิดก็ได้    สำหรับยาหดหลอดเลือดที่พ่นหรือหยอดจมูก ไม่ควรใช้นานกว่า 7 วัน เพราะจะทำให้เยื่อบุจมูกเสียได้   ส่วนยาหดหลอดเลือดชนิดรับประทาน  ควรระวังผลข้างเคียง เช่น ความดันโลหิตสูง  หัวใจเต้นเร็ว  นอนไม่หลับ  กระสับกระส่ายด้วย
2.2      ยาสตีรอยด์พ่นจมูก อาจมีประโยชน์ใน รายที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือ ไซนัสอักเสบเป็นๆ หายๆ โดยเฉพาะถ้ามีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือชนิดที่ไม่แพ้ร่วมด้วย            ยาพ่นจมูกดังกล่าวจะช่วยลดการอักเสบในจมูก  ทำให้รูเปิดของไซนัส ที่มาเปิดในโพรงจมูกโล่งขึ้น  ช่วยให้การไหลเวียนของอากาศ  การระบายของสารคัดหลั่งหรือ หนองที่อยู่ภายในไซนัสดีขึ้น
2.3    ยาต้านฮิสตะมีน ไม่แนะนำให้ใช้ ยาต้านฮิสตะมีนรุ่นเก่าในผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ที่ไม่ได้มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย   เนื่องจากอาจทำให้น้ำมูกและสารคัดหลั่งแห้งและเหนียวได้  ในรายที่มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย  ควรเลือกใช้ยาต้านฮิสตะมีนรุ่นใหม่  เนื่องจากมีผลข้างเคียงดังกล่าวค่อนข้างน้อย 
2.4     ยาละลายมูกหรือเสมหะ ยังไม่มีการศึกษาที่แสดงถึงประสิทธิภาพของยาละลายมูกในการรักษาโรค ไซนัสอักเสบชัดเจน
2.5    การล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ  เป็นการชะล้างเอาน้ำมูก หนอง  สิ่งสกปรกในจมูก ซึ่งเกิดจากการอักเสบในโพรงจมูกและไซนัสออก  เพื่อให้โพรงจมูกและบริเวณรูเปิดของไซนัสโล่ง   ทำให้การพัดโบกของขนกวัดที่เยื่อบุจมูกดีขึ้น อาการต่างๆ ของผู้ป่วยจะดีขึ้นเร็ว
2.6    การสูดดมไอน้ำเดือด จะช่วยทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม  โล่ง  อาการคัดจมูกน้อยลง  อาการปวดตื้อๆ ที่ศีรษะดีขึ้น   นอกจากนั้นยังทำให้การพ่นยาเข้าไปในจมูก มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.7    การผ่าตัด   ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่ เป็นโรคไซนัสอักเสบ มักจะหายได้โดยการใช้ยาอย่างเต็มที่  ส่วนน้อยที่ต้องรับการผ่าตัด  ดังนั้นในการรักษาจึงพยายามใช้ยาอย่างเต็มที่ก่อน   การผ่าตัดเป็นการแก้ไขพยาธิสภาพที่ทำให้รูเปิดระหว่างโพรงจมูกและไซนัสอุด ตัน
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด
  • ผู้ป่วยที่ต้องการเชื้อไปส่งตรวจหาชนิดและความไวต่อยาต้านจุลชีพของเชื้อ
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยให้ยาอย่างเต็มที่แล้ว ผู้ป่วยไม่ดีขึ้น(ผู้ป่วยไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่รักษาด้วยยาเต็มที่แล้วไม่ หาย  ภายใน 3 – 4 สัปดาห์ หรือ ผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรังที่รักษาด้วยยาเต็มที่แล้วไม่ได้ผล  ภายใน 4 – 6 สัปดาห์)  หรือมีการอักเสบเป็นซ้ำหลายๆ ครั้ง  
  • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก มีไข้ขึ้นสูง หรือมีภาวะแทรกซ้อนของไซนัสอักเสบ
  • ผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่มีริดสีดวงจมูกร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อรา
  • ผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่มีความผิดปกติของโครงสร้างทางกายวิภาคภายในโพรงจมูก  ซึ่งทำให้เกิดการอุดตันของรูเปิดไซนัส
3.       รักษาโรคหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบ เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้แก่
3.1)   ความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย      ต้องแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้ดี จะได้มีภูมิคุ้มกันของร่างกาย     โดยให้พักผ่อนให้เพียงพอ   รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ   เพื่อให้ความต้านทานโรคดีขึ้น โอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อน้อยลง
3.2)   เมื่อมีการติดเชื้อขึ้นในทางเดินหายใจส่วนบน  เช่น  เป็นหวัด  คออักเสบ  ต่อมทอนซิลอักเสบ  หรือฟันผุ   ต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็ว เพื่อไม่ให้การอักเสบนั้นลุกลามไปถึงไซนัสได้
3.3)   ผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือชนิดไม่แพ้  ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ให้ผู้ป่วยรู้จักวิธีปฏิบัติตัวและดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
3.4)  ผู้ป่วยที่มีผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีความผิดปกติทางกายวิภาคอื่นๆในจมูก หรือมีริดสีดวงจมูก   ควรให้การรักษาด้วยยาหรือผ่าตัดให้เหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป
โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากไซนัสอักเสบ มีดังนี้
1.  โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากการที่โรคไซนัสอักเสบมีผลต่อเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง
1.1  ภาวะผิดปกติของหูชั้นกลาง  เช่น
1.1.1    ท่อยูสเตเชียนไม่ทำงาน
1.1.2    หูชั้นกลางอักเสบแบบมีน้ำขัง
1.1.3    หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
1.2  การอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุลำคอ
1.3  กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง
1.4  ไอเรื้อรัง
1.5  หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
1.6  โรคหืด
2.    โรคแทรกซ้อนทางตา เช่นฝีในเบ้าตา
3.    โรคแทรกซ้อนทางสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ฝีในสมอง
4.     โรคแทรกซ้อนทางกระดูก เช่น กระดูกและไขกระดูกบริเวณไซนัสอักเสบ
โดยสรุปไซนัสอักเสบเป็นปัญหาที่ เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยทุกอายุทั้งเด็กและผู้ใหญ่  การให้การวินิจฉัยในระยะแรกที่เริ่มเป็น  และให้การรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่  จะช่วยให้ไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันหายได้เป็นส่วนใหญ่  และป้องกันการกลายเป็นไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง   ในรายที่เป็นแบบเรื้อรังมักจะต้องให้การรักษาด้วยยาร่วมกับการเจาะล้างหรือ การผ่าตัดไซนัสจึงจะได้ผล
ในการรักษาไซนัสอักเสบ  นอกเหนือจากการรักษาการติดเชื้อในไซนัสแล้ว     จะต้องรักษาปัจจัยที่เป็นสาเหตุ  หรือเป็นตัวส่งเสริมการเกิดไซนัสอักเสบด้วย   จึงจะสามารถรักษาไซนัสอักเสบให้หายขาด  และป้องกันการกลับเป็นซ้ำ  ซึ่งก็จะช่วยลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากไซนัสอักเสบด้วย   นอกจากนี้ยังต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจโรคที่ตนเองเป็นอยู่   ตลอดจนการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และรักษาอย่างต่อเนื่อง จึงจะทำให้การรักษาไซนัสอักเสบได้ผลอย่างเต็มที่
 
มารู้จักไซนัสอักเสบในเด็กและวิธีรักษาที่ถูกต้องกันเถอะ

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ไซนัสคืออะไร
            ไซนัสเป็นโพรงอากาศในกะโหลก ซึ่งพบได้ที่หัวคิ้วขอบจมูกและโหนกแก้ม หน้าที่ปกติของโพรงไซนัสไม่เป็นที่ทราบแน่นอน  แต่อาจทำให้กะโหลกเบา  เสียงก้อง  สร้างเมือกและภูมิคุ้มกันให้กับโพรงจมูก  โดยปกติเมือกโพรงไซนัสจะไหลเข้าสู่โพรงจมูก ผ่านช่องเล็ก ๆ (Ostium) ที่ผนังข้างจมูกเพื่อใช้ในการต่อสู้เชื้อโรคและระบายสิ่งแปลกปลอมจากจมูกลง สู่ลำคอ หรือออกทางจมูก

การเกิดไซนัสอักเสบ
            เมื่อจมูกเกิดอาการบวม เช่น เป็นหวัด จมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูก จะทำให้ช่องติดต่อระหว่างโพรงไซนัสและจมูกดังกล่าวอุดตันและเกิดคั่งค้างของ น้ำเมือกในโพรงไซนัส และเมื่อเชื้อโรคจากจมูกเข้าสู่โพรงไซนัสได้ก็จะแบ่งตัว และทำให้เกิดการติดเชื้อของโพรงไซนัสและมีหนองเกิดขึ้น ทำให้จมูกบวมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรียกว่าเกิดโรค“ไซนัสอักเสบ” อาการของโรคไซนัสอักเสบอาจแตกต่างกันระหว่างในเด็กและผู้ใหญ่ โดยในผู้ใหญ่จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ และอ่อนเพลียได้มากกว่าในผู้ป่วยเด็ก ซึ่งมักไม่ค่อยมีอาการดังกล่าว เมื่อช่อง (Ostia) ที่ติดต่อระหว่างโพรงไซนัสและจมูกเปิดออกเป็นครั้งคราว หนองและเมือกจากโพรงไซนัสก็จะไหลลงสู่จมูกและคอทำให้เด็กเกิดอาการดังนี้
     • น้ำมูกไหลโดยสีของน้ำมูกอาจเป็นสีเขียว เหลือง หรือขาวเป็นมูก
     • ไอ เพราะเมือกหรือหนองไหลลงคอ กระตุ้นให้เกิดอาการไอโดยเฉพาะตอนนอนในกลางคืน
     • ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น

การรักษาโรคไซนัสอักเสบ ประกอบด้วยหลักใหญ่ 3 ประการคือ
1.  การให้ยาฆ่าเชื้อโรค (ยาปฏิชีวนะ = ยาแก้อักเสบ)
2.  การทำโพรงจมูกที่บวมให้ยุบลง เพื่อให้หนองในโพรงไซนัสไหลถ่ายเทออกมาให้หมด
3.  การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
        1.  การให้ยาฆ่าเชื้อโรค (ยาปฏิชีวนะ = ยาแก้อักเสบ) แพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้ยาเหล่านี้ตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละคน ระยะเวลาในการใช้ยาจะนานกว่าการรักษาการติดเชื้อของระบบหายใจตามปกติ อาจจะให้นานถึง 3-6 สัปดาห์ ตามที่แพทย์จะแนะนำ ซึ่งจะต้องรักษาจนหนองหมดไปจากโพรงไซนัส
        2.  การทำโพรงจมูกที่บวมให้ยุบลง เพื่อให้หนองในโพรงไซนัสไหลถ่ายเทออกมาให้หมด การทำให้โพรงจมูกลดบวมทำได้โดย  การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ  การใช้ยาพ่นจมูก   การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือทำได้ง่าย ๆ โดย
          -  หาซื้อน้ำเกลือหรืออาจผสมขึ้นเองง่าย ๆ โดยใช้น้ำสะอาด 750 cc. ผสมกับเกลือสะอาด 1 ช้อนช้า หรืออาจใช้ 0.9% normal saline ที่ไม่มีน้ำตาลผสมอยู่
         -  เทน้ำเกลือลงในแก้วสะอาด
         -  ดูดน้ำเกลือจากแก้วสะอาดเข้าในลูกยางหรือหลอดฉีดยา (Syringe)
         -  พ่นน้ำเกลือจากลูกยางหรือหลอดฉีดยาเข้าในจมูกในท่าก้มหน้า กลั้นหายใจในระหว่างฉีดน้ำเกลือเข้าสู่จมูก
         -  ทำซ้ำจนน้ำมูกหมด ปฏิบัติวันละ 2-3 ครั้ง ตามคำแนะนำของแพทย์
         -  บางครั้งแพทย์อาจสั่งยาพ่นจมูก หรือยาล้างจมูกให้ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์
        3.  การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
         -  ผู้ป่วยที่เป็นโรคไซนัสอักเสบจำนวนหนึ่ง (อาจถึงร้อยละ 50) อาจจะมีอาการของโรคไซนัสอักเสบที่เนื่องมากจากโรคภูมิแพ้ของจมูก ซึ่งจะทำให้จมูกบวมและมีอาการติดเชื้อตามมา ผู้ป่วยดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงสารแพ้จากไรฝุ่นตามคำแนะนำของแพทย์
         -  ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง ควันบุหรี่ การติดเชื้อจากคนรอบข้าง การอยู่ในที่แออัด การว่ายน้ำในสระที่ไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ

การติดตามผลการรักษา
       เป็นสิ่งที่สำคัญมากผู้ป่วยควรจะต้องมารับการประเมินผลการรักษาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง

แค่เป็นหวัด หรือ ไซนัสอักเสบ ....… ?

แค่เป็นหวัด หรือ ไซนัสอักเสบ ....… ?

ในบรรดาโรคทางเดินหายใจ นอกจากโรคหวัดแล้ว "ไซนัสอักเสบ" ก็เป็นปัญหา ที่พบบ่อยเช่นกัน และมีอาการหลายอย่างเหมือนโรคหวัด เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก ไอ จาม ปวดบริเวณใบหน้า ทำให้ไม่แน่ใจว่าเป็นโรคไซนัสอักเสบหรือไม่? ซึ่งหากวินิจฉัยผิดแต่แรกเริ่ม ก็อาจทำให้พลาดการรักษาที่ถูกต้อง จนอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมาได้

โรคไซนัสอักเสบเป็นการอักเสบของ "โพรงอากาศด้านข้างจมูก" หรือเรียกว่า "โพรงไซนัส" ซึ่งปกติจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ตำแหน่ง เป็นคู่ ๆ ได้แก่ โพรงอากาศบริเวณหน้าผาก โพรงอากาศบริเวณหัวตา โพรงอากาศบริเวณแก้ม และโพรงอากาศบริเวณฐานกะโหลก ซึ่งภาวะไซนัสอักเสบ สามารถแบ่งตามระยะของโรคได้ 2 ชนิด คือ
  1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คือ ไซนัสอักเสบที่มีอาการน้อยกว่า 12 สัปดาห์ และอาการต่าง ๆ จะหายสนิทได้
  2. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ ไซนัสอักเสบที่เป็นนานกว่า 12 สัปดาห์ และในช่วงที่เป็นนั้น อาการต่าง ๆ ไม่มีช่วงที่หายสนิท
สำหรับ ผู้ที่มีโอกาส มีปัญหาเกี่ยวกับไซนัสนั้น ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นไซนัสอักเสบได้ แม้แต่เด็กแรกเกิด แต่บุคคลที่มีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ได้แก่ กลุ่มผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก มีความผิดปกติของช่องจมูก การติดเชื้อจากการรักษา ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ การสูบบุหรี่ และผู้ที่อยู่ในเขตมลภาวะเป็นพิษ ทั้งนี้ ปัจจัยเสริมให้เกิดไซนัสอักเสบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบว่า มักเกิดหลังการติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจส่วนบน ประมาณร้อยละ 0.5 ถึง 2 จะเกิดการอักเสบของโพรงอากาศข้างจมูกจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเฉียบพลันตามมา ดังนั้น ในช่วงต้นของอาการประมาณ 3 ถึง 4 วันแรก จึงแยกภาวะนี้ออกจากไข้หวัดได้ยากเนื่องจากมีอาการคล้ายคลึงกัน

รู้ได้อย่างไรว่า “ไข้หวัด” หรือ “ไซนัสอักเสบ” ?

ธรรมชาติ ของไข้หวัดนั้น ผู้ป่วยมักมีอาการใดอาการหนึ่ง หรือหลายอาการดังต่อไปนี้ คือ จาม น้ำมูกไหล คัดแน่นจมูก ความสามารถในการรับกลิ่นลดลง ปวดหน่วงบริเวณใบหน้า เสมหะไหลลงคอ เจ็บคอ ไอ หูอื้อ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยที่อาการไข้ ปวดเมื่อย และเจ็บคอมักจะดีขึ้น หรือหายไปภายในไม่เกิน 7 - 10 วัน ส่วนอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล แลไอ อาจเป็นนานถึงสัปดาห์ที่ 2 และ 3 แต่ก็จะลดความรุนแรงลงเรื่อย ๆ แต่หากอาการต่าง ๆ ของไข้หวัดไม่ดีขึ้นเลยภายใน 10 วัน หรือดีขึ้นระยะหนึ่ง แล้วกลับเป็นซ้ำ ให้พึงระวังไว้ก่อนว่าอาจเกิดภาวะไซนัสอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเฉียบ พลันได้ (Acute bacterial rhinosinusitis)

สำหรับ การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ จากเชื้อแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยต้องมีอาการอย่างน้อยสองอาการ หรือมากกว่าโดยที่หนึ่งในนั้น ต้องมีอาการคัดแน่นจมูก หรือ น้ำมูกไหล ทางรูจมูก หรือไหลลงคอ ซึ่งในบางรายอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดตื้อบริเวณด้านข้างจมูก ใบหน้า และ/หรือ มีการรับกลิ่นผิดปกติไป

การตรวจ บริเวณโพรงจมูก และไซนัสเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยอาการแสดงจำเพาะของการเกิดไซนัสอักเสบ คือ พบมูกหนองที่บริเวณช่องข้างจมูกชั้นกลาง ซึ่งเป็นทางระบายมูกจากโพรงไซนัสเข้ามาสู่ช่องจมูก โดยต้องอาศัยเครื่องมือตรวจพิเศษ ได้แก่ กล้อง Endoscope หรือ Otoscope ที่มีเลนส์ขยาย จึงจะสามารถมองเห็นบริเวณนี้ได้อย่างชัดเจน และยังสามารถเก็บมูกหนอง เพื่อทำการเพาะเชื้อตรวจในผู้ป่วยบางราย อย่างไรก็ตาม ในบางรายแพทย์อาจพิจารณาตรวจทางรังสีวิทยาร่วมด้วย โดยการเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นการตรวจที่ดี สำหรับโรคไซนัสอักเสบ เนื่องจากสามารถบอกรายละเอียดของโรค และโครงสร้างทางกายวิภาคในโพรงจมูก และไซนัสได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังใช้วินิจฉัยแยกจากโรคอื่นที่มีลักษณะอาการคล้ายกับไซนัสอักเสบ ได้ด้วย

การรักษาไซนัสอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน

รักษาด้วยยา
  1. ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยควรได้รับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 10-14 วัน
  2. ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ ยาชนิดนี้มีผลลดการอักเสบบวมของเยื่อบุจมูกและโพรงไซนัส ช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นเร็วหากใช้ควบคู่ไปกับยาปฏิชีวนะ
  3. ยาลดการบวม มีทั้งชนิดรับประทานและชนิดพ่นหรือหยอดจมูก ช่วยบรรเทาอาการคัดแน่นจมูกได้ดี แต่มีข้อจำกัดว่ายาชนิดพ่นหรือหยอดจมูกนี้ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 3-5 วันเนื่องจากมีผลข้างเคียงทำให้เยื่อบุจมูกกลับบวมมากขึ้น
  4. ยาต้านฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ทั้งที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการง่วงและไม่ง่วง
  5. การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เป็นการรักษาอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่าย และช่วยให้อาการทางไซนัสดีขึ้น ลดความหนืดของน้ำมูกและช่วยเพิ่มการทำงานของเซลล์ชนิดมีขนอ่อนไว้พัดโบกใน โพรงจมูกและไซนัส
  6. การสูดดมไอน้ำร้อน
รักษาด้วยการผ่าตัด

เป็น การผ่าตัดผ่านกล้อง endoscope ผ่านทางรูจมูก เพื่อระบายมูกหนอง และช่วยปรับอากาศของโพรงไซนัส ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่เป็นมาตรฐาน และมีความปลอดภัยสูง ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วและเสียเลือดไม่มาก โดยแพทย์จะพิจารณาให้การผ่าตัดในกลุ่มผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือมีการอักเสบเป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง รวมถึงรายที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการอักเสบเฉียบพลันทั้งต่อทางตา, สมอง และกระดูกที่อยู่บริเวณใกล้เคียง

แม้ในปัจจุบันจะ มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคไซนัสอักเสบอย่างแพร่หลาย แต่หากได้รับการดูแลรักษา ที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ต่อเนื่อง ก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เช่น ลูกตาอักเสบ ฝีหนองในเบ้าตา เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเป็นฝีหนองในเนื้อสมองได้

ที่มา
พญ.วรรนธนี อภิวัฒนเสวี
โสต ศอ นาสิกแพทย์ สาขาโรคไซนัสอักเสบและภูมิแพ้
โรงพยาบาลเวชธานี