8.2.13

แพ้อากาศ

แพ้อากาศ


" โรคภูมิแพ้จมูก " (Allergic Rhinitis) หรือที่เรียกว่า "แพ้อากาศ" นี้ เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก และวัยรุ่น มากกว่า 80% ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ มีอาการก่อนอายุ 20 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในคนทุกวัย โรคภูมิแพ้จมูกนี้มีอาการเรื้อรัง สร้างความรำคาญให้แก่ผู้ป่วย และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น

ภูมิแพ้จมูกเกิดขึ้นได้อย่างไร??

ผู้ ป่วยโรคภูมิแพ้จมูกจะมีปฏิกิริยาตอบสนองไวเกินต่อสารก่อภูมิแพ้ เมื่อมีสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย สารอิมมูโนโกลบูลินอี (Immunoglobulin E; IgE) ที่ถูกสร้างขึ้นจะเข้าทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ที่หายใจเข้าไป เป็นผลให้เซลล์บางชนิดภายในจมูก มีการแตกตัว และหลั่งสารเคมีออกมา ทำให้เกิดการอักเสบ และมีอาการต่าง ๆ ของโรคตามมา

ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้จมูก

กรรมพันธุ์ ถ้าพบว่า บิดา หรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึง 50% และถ้าทั้งบิดา และมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นเพิ่มขึ้นถึง 70% และมักจะมีอาการเร็วสิ่งแวดล้อม สารก่อภูมิแพ้มักจะเป็นสารที่ได้รับเข้าไป ซึ่งอาจเป็นจากการหายใจ สัมผัส รับประทาน หรือฉีดเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งแบ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ฝุ่น, ไรฝุ่น, แมลงสาบ, รังแค หรือขนของแมว และสุนัข, เชื้อราในอากาศ, ควันบุหรี่ สารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน เช่น ละอองหญ้า, เกสรดอกไม้, ฝุ่นละออง, ควันจากรถยนต์, ควันไฟจากการหุงต้มอาหาร, ก๊าซพิษ ปัจจัยอื่น ๆ

ทารก ที่ได้รับนมมารดาเพียงอย่างเดียวเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน พบว่า มีโอกาสเกิดภูมิแพ้น้อยลง, ทารกที่ได้รับอาหารเสริม ตั้งแต่อายุ 4 เดือนมีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้มากกว่าทารกที่ไม่ได้รับอาหารเสริมถึง 3 เท่า

อาการของโรค

ผู้ ป่วยจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จามบ่อย คันในจมูก และมีเสมหะไหลลงคอ โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นตลอดปี หรือเพียงบางฤดูกาลก็ได้ โดยเฉพาะฤดูฝน หรือฤดูหนาว บางรายอาจมีอาการทางตาร่วมด้วย เช่น คันตา เคืองตา ตาบวม น้ำตาไหล อันเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุภายในตา ที่เรียกว่า Allergic conjunctivitis ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการเฉพาะบางเวลา เช่น ตอนเช้าหรือกลางคืน ประมาณวันละ1 - 2 ชั่วโมง

อาการของโรคนี้ต่างจากอาการหวัดอย่างไร

อาการ ของโรคภูมิแพ้จมูกมักมีอาการเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ อาการเด่น คือ มีน้ำมูกใส จาม และคัดจมูก คันจมูก บางครั้งอาจมีอาการคันตาร่วมด้วย โดยมักไม่มีไข้ อาจมีอาการไอเรื้อรังด้วย เนื่องจากมีเสมหะไหลลงคอทำให้ระคายคอ

แต่ หากมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วยน่าจะเป็นหวัดมากกว่า นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูก มักมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคในกลุ่มโรคภูมิแพ้ด้วย เช่น โรคภูมิแพ้จมูก โรคหอบหืด แพ้อาหาร ลมพิษเรื้อรัง ผื่นแพ้

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคภูมิแพ้จมูก
โรคไซนัสอักเสบ
ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ในกระดูกบริเวณใกล้จมูก มีส่วนท่อต่อกับจมูก ทำให้อากาศผ่านเข้าออกได้ เมื่อเยื่อบุภายในจมูกบวมอักเสบ จะทำให้ท่อต่อนี้อุดตัน เกิดการติดเชื้อในโพรงไซนัส เกิดเป็นโรคไซนัสอักเสบ โดยมีอาการปวดบริเวณไซนัส ปวดศีรษะ น้ำมูกเขียว บางครั้งมีเสมหะไหลลงคอ หูชั้นกลางอักเสบ ผู้ป่วยมีอาการปวดหู หูอื้อ ถ้าเป็นเรื้อรังอาจมีหนองไหลออกจากหู เนื่องจากมีเยื่อแก้วหูทะลุ

นอนกรน ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูกจะมีเยื่อบุจมูกบวม บางครั้งอาจมีต่อมทอนซิล และต่อมอะดีนอยด์โตร่วมด้วย มีผลทำให้ช่องทางเดินหายใจถูกอุดกั้น และมีอาการกรนเกิดขึ้น ถ้าอาการรุนแรงอาจมีการหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ขณะนอน ออกซิเจนต่ำ และมีผลต่อสมอง ทำให้เด็กสมาธิสั้น ส่งผลต่อพฤติกรรมและการเรียนรู้ได้

การรักษาและการป้องกัน

ใน ครอบครัวที่ทารกมีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ ควรส่งเสริมให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดาเพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ได้แก่ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนาน 30 นาที ความถี่ 3 - 4 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อก่อให้เกิดการปฏิชีวนะ

การดูแลสิ่งแวดล้อม

ห้อง นอนควรใช้เครื่องนอนที่เหมาะสม ไม่ควรใช้หมอน หรือที่นอนที่ทำจากนุ่น และควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ งดใช้พรม ไม่สะสมหนังสือ ของเล่น หรือตุ๊กตา ที่มีขนในห้องนอน ทำความสะอาดที่นอน หมอน ผ้าห่มเป็นประจำ โดยใช้การซักด้วยน้ำร้อน 60 องศา นาน 15 - 20 นาที เพื่อฆ่าตัวไรฝุ่น และตากแดดให้แห้ง ควรทำความสะอาด ดูดฝุ่น เช็ดถูพื้นเรือน ผ้าม่าน และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ งดการสูบบุหรี่ในบ้าน ไม่ควรใช้แป้งฝุ่น สเปรย์ปรับอากาศ และยาจุดกันยุง อาจเลือกใช้ผ้าใยสังเคราะห์พิเศษเพื่อคลุมที่นอนและหมอน เพื่อป้องกันไรฝุ่น หรือใช้เครื่องกรองอากาศชนิดที่เป็น HEPA Filter ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขนในบ้าน เช่น แมว สุนัข

การ กำจัดขยะ และเศษอาหารต่าง ๆ ควรมีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันแมลงสาบ หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง เช่น ท่อไอเสียรถยนต์ การล้างจมูก ในกรณีมีน้ำมูกปริมาณมาก หรือเป็นไซนัสอักเสบ กรณีที่พยายามหลีกเลี่ยง และพยายามออกกำลังกายแล้วอาการยังมีอยู่ แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางและรับการรักษาดังนี้

ยา ต้านฮีสตามีน หรือยาแก้แพ้แบบรับประทาน ยาลดจมูกบวม แก้คัดจมูก การให้ยาพ่นจมูกเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดภูมิแพ้ การให้การรักษาโดยวิธี Desensitization (การให้วัคซีนภูมิแพ้) เป็นการรักษาโรคภูมิแพ้ที่ต้นเหตุ และพบว่ามีอัตราการหายขาด 60 – 80 % ในรายที่มีโรคแทรกซ้อนของภูมิแพ้ เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ให้รีบรับการรักษาที่ถูกต้องโดยแพทย์เฉพาะทาง โดยการให้ยาปฏิชีวนะ

ที่มา
ข้อมูลจากโรงพยาบาลเวชธานี

กินแล้วนอน.... ระวัง! โรคกรดไหลย้อน

กินแล้วนอน.... ระวัง! โรคกรดไหลย้อน


" กรดไหลย้อน " คือ ภาวะที่น้ำกรดในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร และในบางรายอาจไหลย้อนขึ้นมาถึงคอ และกล่องเสียงได้

ปัจจุบัน พบว่า ผู้ป่วยโรคนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะ ลักษณะรูปแบบการดำรงชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไป เกิดความเครียด มีความเร่งรีบในการทำงาน ทำให้ผู้คนนิยมรับประทานอาหารจานด่วน ที่อุดมไปด้วยไขมัน คาร์โบไฮเดรต และแคลอรี่สูง รวมทั้งการแพทย์ที่ก้าวหน้า และเครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้สามารถตรวจ และวินิจฉัยโรคนี้ได้มากยิ่งขึ้นด้วย

ภาวะนี้เกิด ขึ้นได้ เนื่องจากพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อหูรูด ระหว่างหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ อาการสามารถเกิดได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ในระยะเริ่มต้นอาจไม่รู้สึกว่า มีความผิดปกติ หรือมีอาการแต่อย่างไร และผู้ป่วยบางรายอาจไม่เคยมีอาการของโรคกระเพาะ หรือรักษาโรคกระเพาะมาก่อนเลยก็ได้

ลักษณะอาการ

น้ำ กรดจะทำให้ระคายเคืองหลอดอาหาร ทำให้เยื่อบุอาหารเกิดการอักเสบ ผู้ป่วยจะเจ็บในอก รู้สึกแสบร้อนในอกได้ โดยเฉพาะเวลาเรอ นอกจากนั้น กรดยังสามารถระคายเคืองกล่องเสียงและคอหอยได้ด้วย ซึ่งอาการที่บริเวณคอหอยและกล่องเสียง คือ เสียงแหบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง โดยเฉพาะเสียงแหบในเวลาเช้า รู้สึกขมในปาก และคอหลังจากตื่นนอนใหม่ ๆ คอ และกล่องเสียงอักเสบบ่อย ๆ รักษาหายได้ไม่นาน ก็กลับมาเป็นใหม่อีก ระคายคอ และกระแอมบ่อยๆ รู้สึกว่าคอไม่โล่ง ไอเรื้อรัง แต่พบว่าปอดปกติดี กลืนอาหารลำบาก กลืนติด ๆ กลืนไม่ลง กลืนแล้วเจ็บในคอ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนมีก้อนอะไรจุก ๆ ในคอ ลมหายใจมีกลิ่น มีกลิ่นปาก มีเสมหะในคอจำนวนมาก รู้สึกว่า เหมือนมีเสมหะไหลลงคออยู่เรื่อย ๆ

ผู้ ป่วยบางท่านอาจมีแค่อาการใด อาการหนึ่ง ในขณะที่บางท่านอาจมีหลาย ๆ อาการร่วมกันได้ อาการต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิด คิดว่ามีเนื้องอก หรือก้อนมะเร็งในคอ ทั้งนี้ เมื่อทำการตรวจวินิจฉัยแล้ว แพทย์ไม่พบก้อนเนื้อเหล่านั้นเลย กรณีนี้ ทำให้ผู้ป่วยไม่สบายใจ วิตกกังวล และยิ่งเกิดความเครียดมากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน คือ โรคกระเพาะ ที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และต่อเนื่อง การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่ม ที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ การดื่มเครื่องดื่ม ที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ช็อคโกแลต การรับประทานอาหาร ที่มีไขมันสูง รสจัด หรือมีส่วนประกอบของมะเขือเทศในปริมาณมาก การเข้านอนหลังรับประทานอาหารเสร็จ 2 -3 ช.ม. ภาวะโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน การสวมเสื้อผ้าที่คับแน่น ก็มีผลทำให้เกิดโรคนี้ได้ หรือ การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาหวัดบางชนิด เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัย ภาวะกรดไหลย้อนนั้นแบ่งได้เป็น 2 อย่างด้วยกัน คือ
  • การตรวจด้วยกระจก ที่ใช้สำหรับตรวจกล่องเสียง และคอโดยเฉพาะ
  • การตรวจด้วยการส่องกล้อง ซึ่งการส่องกล้องนั้น แยกได้ออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ
*ส่วนที่ 1 คือ การส่องกล้องเพื่อตรวจดู ตั้งแต่ลำคอจนถึงกล่องเสียง
*ส่วนที่ 2 คือ การส่องกล้องเพื่อดูหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร

การ ส่องกล้องดูลำคอและกล่องเสียงนั้น สามารถทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ใช้เวลาไม่นาน ไม่จำเป็นต้องใช้ยาสลบ และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรมา (ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร)

ส่วน การส่องกล้องดูหลอดอาหารและกระเพาะอาหารนั้น ผู้ป่วยต้องเตรียมตัว โดยงดน้ำ และอาหารมาก่อน เนื่องจาก ต้องมีการใช้ยาชา หรือวางยาสลบ และเพื่อที่จะได้ไม่มีเศษอาหารในกระเพาะอาหารมารบกวน ขณะที่ทำการส่องกล้อง

ในผู้ป่วยบางรายพบว่า " มีอาการในอกคล้ายกับผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ และมะเร็งบางชนิด" จึงทำให้อาจต้องมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค เช่น การกลืนแป้ง การเอ็กซ์เรย์ หรือเอ็กซ์เรย์ คอมพิวเตอร์ ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมเหล่านี้ก็ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด หรือทรมานต่อผู้ป่วยแต่อย่างใด

สำหรับแนวทางในการรักษาภาวะกรดไหลย้อนนั้น แบ่งออกได้เป็น 3 แนวทาง

แนวทางที่ 1 :
แพทย์ จะให้คำปรึกษา และแนะนำในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง ที่มีผลต่อโรคนี้ เช่น ในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ แพทย์จะแนะนำให้งดสูบ ในผู้ป่วยที่ชอบรับประทานอาหารปริมาณมาก ๆ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารแค่พอดี ไม่ควรรับประทานอาหารจนอิ่มเกินไป ผู้ป่วยโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวมาก แพทย์จะแนะนำให้งดอาหารรสจัดจำพวกเผ็ด และเปรี้ยว รวมทั้ง อาหารที่มีไขมันสูง และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ชา กาแฟ ช็อคโกแลต) และงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วย รวมทั้งลดอาหาร ที่มีส่วนประกอบของมิ้นท์ และมะเขือเทศจำนวนมาก
แนวทางที่ 2 :
แพทย์ จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยา เพื่อควบคุมการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งในปัจจุบัน ยาชนิดนี้มีอยู่หลายกลุ่ม และกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันไป ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ ก่อนใช้ยา และไม่ควรซื้อยาลดกรดรับประทานเอง เนื่องจากยานั้น ๆ อาจไม่เหมาะสม กับสภาวะที่ผู้ป่วยกำลังเป็นอยู่
แนวทางที่ 3 :
ถ้า ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น และไม่ตอบสนองต่อการรักษา 2 แนวทางแรก แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด ซึ่งเป็นการผ่าตัดให้กล้ามเนื้อหูรูดระหว่างหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารนั้นกระชับขึ้น

ภาวะ กรดไหลย้อนนั้น ควรได้รับการรักษาที่เหมาะสมและต่อเนื่อง การรับประทานยาเฉพาะเวลาที่มีอาการ หรือเฉพาะตอนที่เป็นมาก ๆ มักไม่เพียงพอ ที่จะทำให้หายได้ และเมื่อรักษา จนอาการดีขึ้นแล้ว ก็ควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วให้ต่อเนื่อง เพราะโรคนี้ อาจย้อนกลับมาก่อความรำคาญให้ผู้ป่วยได้อีกเรื่อย ๆ ถ้าผู้ป่วยยังมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นอยู่

เมื่อ ใดที่ผู้ป่วยเป็นโรคนี้ ท่านไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือละเลยที่จะตรวจและรักษา หรือดูแลร่างกาย เนื่องจากพบว่าภาวะน้ำกรดไหลย้อนมีส่วนสัมพันธ์กับมะเร็งของกล่องเสียง และมะเร็งของหลอดอาหารด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และมีอาการของโรคนี้มานานเกิน 5 ปี

ที่มา
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

อาการ "ไอ"

อาการ "ไอ"

อาการ " ไอ " เป็น อาการที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด แต่ใช่ว่าต้องป่วยด้วยโรคร้ายดังกล่าวนี้เท่านั้น จึงจะมีอาการไอ หากเป็นแค่โรคหวัดก็ยังทำให้คุณไอได้

วิธีบรรเทาอาการไอ โดยไม่ต้องใช้ยา

ก่อนอื่นเราควรรู้ว่า อาการไอ นั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
  • ไอฉับพลัน จะมีอาการไอไม่เกิน 3 สัปดาห์ และส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อ ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด หลอดลมอักเสบ หรือสูดสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหลอดลม เช่น ควันบุหรี่ แก๊ส หรือสีสเปรย์
  • ไอเรื้อรัง อาการไอชนิดนี้จะยาวนาน มากกว่า 3 สัปดาห์ขึ้นไป อาจเกิดจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง การใช้ยาความดันโลหิตสูงบางชนิดอย่างต่อเนื่อง โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือโรควัณโรค เป็นต้น
หากเริ่มมีอาการไอ คุณสามารถบรรเทาอาการ ที่ปฏิบัติตามแล้วอาจหายขาด หรืออย่างน้อยก็ช่วยลดความทรมาน จากความเจ็บปวดช่วงลำคอ หรือทรวงอกก่อนที่จะไปพบแพทย์

ยาสามัญแสนจะ บริสุทธิ์หาง่ายใกล้ตัว คือ น้ำเปล่าไม่เย็น หรืออุ่น ๆ แต่ไม่ควรร้อน ให้ดื่มบ่อย ๆ ทำให้ชุ่มคอ หรือน้ำผึ้งผสมน้ำมะนาว จิบบ่อย ๆ ช่วยลดอาการไอ

ระหว่างที่มีอาการไอ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำ หรืออากาศเย็น หากเลี่ยงไม่ได้ให้ทำร่างกายให้อบอุ่น เช่น สวมเสื้อหนา ๆ หรือสวมถุงเท้า งดรับประทานไอศกรีม เลี่ยงการดื่มและอาบน้ำเย็น งดสูบบุหรี่ หรือสูดดมควันบุหรี่ งดอาหารทอดน้ำมัน

แต่ถ้ามี อาการไอเรื้อรังไม่หาย หรือไม่ทุเลาลงสักที ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของโรคที่แท้จริง เพราะหากอาการไอ ทวีความรุนแรงขึ้น อาจกระทบกับบุคลิภาพ รบกวนการทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวัน ในทางสุขภาพร่างกาย อาจทำให้กระดูกซี่โครงหัก ถุงลม หรือเส้นเลือดฝอยในปอดแตก และยังส่งผลกระทบไปที่ดวงตา และหูได้

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก

เนื่องจาก การลดน้ำหนักเป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยความยากลำบาก คนที่มีน้ำหนักเกินยังไม่เห็นผลร้าย ที่เกิดกับตนเองในระยะสั้น ๆ ดังนั้นคนทั่วไปจึงมักไม่ค่อยมีความตั้งใจจริง ที่จะลดน้ำหนัก และเมื่อมีความต้องการจะลดน้ำหนัก ก็จะต้องการให้ลดลงไปอย่างรวดเร็ว จึงมีความเชื่อผิด ๆ หรือการโฆณณาชวนเชื่อต่าง ๆ ออกมาอยู่เป็นประจำ ความเชื่อผิด ๆ เหล่านี้ได้แก่
  • ความเชื่อที่ว่าท่านสามารถลด น้ำหนักได้สัปดาห์ละหลาย ๆ กิโลกรัม โดยการรับประทานยา หรืออาหารสำหรับลดน้ำหนัก ซึ่งการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะเป็นการขับน้ำออกจากร่างกาย ไม่ใช่ไขมันส่วนเกิน
  • ความเชื่อที่ว่า ท่านจะลดน้ำหนักโดยการอดอาหาร เป็นมื้อ ๆ ไป ถ้าหากหิวก็ให้อดทนเอา วิธีนี้ คงจะเป็นวิธีที่ทรมานที่สุด เพราะท่านอาจจะเป็นโรคกระเพาะเสียก่อน และเมื่อถึงเวลารับประทานมื้อถัดไป ท่านอาจจะรับประทานมากกว่าเดิม
  • ความเชื่อที่ว่า ท่านไม่จำเป็นต้องลดน้ำหนัก เพราะอ้วนกันทั้งครอบครัว ความอ้วนเป็นกรรมพันธุ์ ความเชื่อเหล่านี้ จะยิ่งทำให้อ้วนมากยิ่งขึ้น เพราะจริง ๆ แล้วโรคอ้วน ไม่ใช่กรรมพันธุ์ แต่การสร้างเซลล์ไขมันส่วนเกินได้ง่าย ในครอบครัวของคนอ้วนเป็นกรรมพันธุ์ แต่ก็ป้องกันได้โดยการเลือกอาหารด้วยความระมัดระวัง และการออกกำลังกาย

การลดน้ำหนักที่ถูกต้อง คือ การลดน้ำหนักที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีผลต่อร่างกายอย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในการรับประทานอาหารให้เหมาะสม และการออกกำลังกายเท่านั้น ที่เป็นหัวใจของการลดน้ำหนักที่ได้ผลดีที่สุด

ท่านอน

ท่านอน

ทราบหรือไม่ว่า "ท่านอน" แต่ละท่ามีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกัน อย่างไร???

ท่านอนหงาย

ถือ ได้ว่าเป็นท่านอนมาตรฐาน แต่การนอนหงายในท่าราบสำหรับคนที่มีอาการปวดหลังนั้น จะทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น เวลานอนควรใช้หมอนหนุนรองใต้โคนขา หรือวางพาดขาทั้งสองไว้บนเตียงนอน รวมทั้งควรออกกำลังกายเป็นประจำ วันละ 10 - 15 นาที เพื่อช่วยบริหารกล้ามเนื้อหลังลดการเกร็งตัว และบรรเทาอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี

ท่านอนตะแคง

"ท่านอนตะแคงขวา" เป็น ท่านอนที่ดีที่สุด ถ้าเทียบกับการนอนหลับในท่าอื่น ๆ เพราะหัวใจเต้นสะดวก และอาหารจากกระเพาะถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี และเป็นท่านอน ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี อีกทั้งท่านอนตะแคง ทั้งตะแคงซ้าย และขวาช่วยลดเสียงกรนได้ ในผู้ที่กรนจากการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ลิ้นไก่ยาว โคนลิ้นหนา ต่อมทอนซิลโตมาก หรือโพรงจมูกอุดตัน

ท่านอนคว่ำ

ท่า นอนคว่ำทำให้หายใจติดขัดไม่สะดวก โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีเต้านมใหญ่ สำหรับผู้ชาย การนอนคว่ำ อาจทำให้อวัยวะเพศถูกทับอยู่ตลอดเวลา จนเกิดอาการชาของอวัยวะเพศได้ ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องนอนคว่ำ ควรหาหมอนรองใต้ทรวงอก