3.1.13

รอบรู้เรื่องโรคไซนัส และไซนัสอักเสบ


เมื่อเป็นไซนัสอักเสบ

อ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ
      ภ.โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
             “ฮัดเช้ย…ฮัดเช้ย…อยากรู้จังเลยว่าใครเอ่ยถึงฉัน ถึงได้จามอยู่ได้ตลอดวัน” 
                 เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมเราถึงเป็นหวัดคัดจมูก น้ำมูกไหลนานไม่หายสักที ไอติดต่อกันหลายสัปดาห์ แถมยังปวดฟันกรามด้านบน ปวดศีรษะ ลมหายใจไม่สดชื่นมีกลิ่นตุๆ ทั้งๆ ที่แปรงฟันเป็นอย่างดี หากมีอาการเหล่านี้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็น “ไซนัสอักเสบ” ฟังดูคงคุ้นหู แต่ทราบหรือไม่ว่าหมายถึงอะไร พบคำตอบกันเลยครับ

รู้จัก “ไซนัส”
                 ไซนัส หมายถึงโพรงอากาศที่อยู่รอบ ๆ โพรงจมูกเราทั้งซ้ายและขวา โดยปกติคนเรามีโพรงไซนัสทั้งหมด 4 แห่ง คือ บริเวณระหว่างตาทั้งสองข้าง บริเวณแก้ม บริเวณหน้าผาก และบริเวณในสุดของรูจมูกและที่ใต้ฐานกะโหลก โพรงอากาศนี้เป็นที่โล่ง ๆ ในกะโหลกศีรษะ แต่ละโพรงอากาศจะมีรูระบายอากาศตามธรรมชาติโพรงละ 1 รู ซึ่งจะระบายเข้าสู่โพรงจมูก และเมื่อเยื่อบุโพรงไซนัสมีการอักเสบ เราจึงเรียกว่า “ไซนัสอักเสบ”
อาการนำของไซนัสอักเสบ
           1.  คัดจมูก น้ำมูกข้นเขียวหรือเหลือง
           2.  หายใจมีกลิ่นเหม็น
           3.  ปวดศีรษะ ปวดขมับ ปวดแก้ม ปวดท้ายทอย หนักหัว
           4.  เสมหะข้นไหลลงคอ ไอบ่อย
           5.  เลือดออกทางจมูก (พบในบางราย)
           6.  รายที่เป็นรุนแรงอาจมีไข้สูง ตาบวมอักเสบได้ เป็นต้น

สาเหตุการเกิดโรค
           1.  เกิดตามหลังอาการไข้หวัด เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในรายที่เป็นหวัดแล้วไม่พักผ่อนอย่างเพียงพอ การดำน้ำลึก หรือกระโดดน้ำ อาจทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการไซนัสอักเสบอยู่เดิมเกิดกำเริบได้
           2.  เป็นโรคภูมิแพ้
           3.  โรคริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอกในโพรงจมูก
           4.  ฟันกรามแถวบนอักเสบ
           5.  มีสิ่งแปลกปลอมเข้ารูจมูก อาทิ ลูกปัด เม็ดถั่วเขียว พบมากในเด็ก
           6.  ประสบอุบัติเหตุกระดูกใบหน้าแตกร้าว ต่อมอะดินอยต์มีขนาดโตและติดเชื้อ
           7.  ผนังจมูกคด
รักษาอย่างไร
           ไซนัสอักเสบบางชนิดรักษาให้หายขาดได้ บางชนิดอาจรักษาหายแต่โอกาสกลับมาเป็นใหม่มีสูง ทางที่ดีที่สุด คือ ผู้ป่วยต้องรีบมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรปล่อยให้เรื้อรัง โดยทั่วไปการรักษาทำได้หลายวิธี ได้แก่ การรักษาด้วยยา – ยาปฏิชีวนะ ยาลดบวมของเยื่อจมูก เป็นต้น โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อยประมาณ 14 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและชนิดของเชื้อ กรณีอาการไม่ดีขึ้นแม้จะรักษาด้วยยาเต็มที่แล้วก็ตาม รวมทั้งมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนยาหรือตรวจเพาะเชื้อจากหนองในไซนัสร่วมกับการผ่าตัด

            ปัจจุบันการผ่าตัดไซนัสนิยมผ่าตัดผ่านทางจมูกโดยใช้กล้องส่องเพราะเป็นวิธี ที่ปลอดภัยและได้ผลดี และผู้ป่วยไม่มีบาดแผลจากการผ่าตัดบริเวณใบหน้า นอกจากการรักษาที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ป่วยยังต้องได้รับการรักษาที่สาเหตุและประคับประคองไปด้วย เช่น ถ้ามีภูมิแพ้หรือริดสีดวงจมูกร่วมด้วย อาจต้องใช้ยาพ่นจมูก หรือถ้ามีผนังกั้นช่องจมูกคดอาจต้องผ่าตัดแก้ไข เป็นต้น
ทำอย่างไรจึงไม่กลับไปเป็นอีก
            การรักษาไซนัสอักเสบต้องอาศัยเวลา ผู้ป่วยต้องไม่ใจร้อน หรือหากได้รับการรักษาไปเพียงหนึ่งสัปดาห์แต่อาการดีขึ้นรู้สึกเป็นปกติก็ อย่าชะล่าใจเพราะท่านอาจยังไม่หายดี ควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันอาการกำเริบ ในรายที่แม้จะรับการรักษาติดต่อกันเป็นเวลานานก็ไม่หายสักที หรือเป็นซ้ำ ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงเพื่อรับการรักษาต่อไป

รู้หลักปฏิบัติดูแลตนเองเมื่อเป็นไซนัสอักเสบ
           1.  พักผ่อนเพียงพอ
           2.  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่หักโหม
           3.  หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำเมื่อมีอาการคล้ายหวัดกำเริบ
           4.  หลีกเลี่ยงภาวะอุณหภูมิแปรเปลี่ยนฉับพลัน
            5.  ถ้ามีอาการมากขึ้นควรรีบพบแพทย์ รับประทานยา และติดตามการรักษาสม่ำเสมอ
         เห็นมั้ยครับว่า “ไซนัสอักเสบ” ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงท่านหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และเมื่อเป็นแล้วก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด แล้วท่านก็จะหายใจโล่ง โปร่งสบายครับ.

ไซนัสอักเสบ…รักษาได้  
                                    รศ. นพ. ปารยะ   อาศนะเสน
สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล   
คำจำกัดความ
โรคไซนัสอักเสบคือ การอักเสบของเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูก หรือที่เราเรียกว่า “ไซนัส” ซึ่งอาจเป็นเพียงหนึ่งไซนัส หรือหลายไซนัส เป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้   อาจจะเป็นการอักเสบติดเชื้อหรือการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อก็ได้     

 ไซนัสคืออะไร และมีหน้าที่อะไร
ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ภายในกระดูกบริเวณรอบๆ หรือใกล้เคียงกับจมูก ซึ่งมีอยู่ 4 กลุ่มใหญ่ๆ ในแต่ละข้าง  ไซนัสที่ใหญ่ที่สุดอยู่ภายในกระดูกโหนกแก้ม (maxillary sinus)  อีกกลุ่มหนึ่งมีอยู่หลายโพรง มีขนาดเล็ก และอยู่ระหว่างบริเวณโคนจมูก และหัวตาแต่ละข้าง (ethmoidal sinuses)  ในกระดูกหน้าผากก็มีไซนัสภายใน (frontal sinus) นอกจากนั้นยังมีไซนัสที่อยู่ใต้ฐานกะโหลกศีรษะ (sphenoidal sinus) ด้วย  หน้าที่ของไซนัสนั้นไม่ทราบแน่ชัด  แต่เชื่อว่าอาจช่วยทำให้เสียงที่เราเปล่งออกมา กังวานขึ้น, ช่วยทำให้กะโหลกศีรษะเบาขึ้น และช่วยรักษาสมดุลของศีรษะ, ช่วยในการปรับความดันของอากาศภายในโพรงจมูก  ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของความดัน และสร้างสารคัดหลั่งที่ป้องกันการติดเชื้อของโพรงจมูกและไซนัส

ความสำคัญของโรคไซนัสอักเสบ
โรคไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่    ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคนี้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง   โรคไซนัสอักเสบนั้นมักไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง เนื่องจากอาการของโรคไซนัสอักเสบมักไม่เฉพาะเจาะจง  ทำให้แยกได้ยากจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนเช่น จมูกอักเสบหรือหวัด    โรคไซนัสอักเสบมีตั้งแต่หายได้เองโดยไม่ต้องรักษา เช่น ไซนัสอักเสบตามหลังหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสและเป็นไม่มาก  ไปจนถึงไซนัสอักเสบที่ต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่นไซนัสอักเสบที่มีภาวะแทรกซ้อนที่ตาและสมอง
โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก  อาจเกิดไซนัสอักเสบเฉียบพลันเป็นๆ หายๆ  หรือเกิดไซนัสอักเสบเรื้อรัง  หรือมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น เยื่อบุหูชั้นกลางอักเสบ, ริดสีดวงจมูก, ท่อยูสเตเชียน (ที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก) ทำงานผิดปกติ, ภาวะแทรกซ้อนทางตา หรือสมอง เช่นฝีในลูกตาหรือสมอง,  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ          ถ้าผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ได้รับการวินิจฉัย และได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมในระยะเริ่มแรก จะช่วยลดอุบัติการของการกลับเป็นซ้ำหรือ การเป็นเรื้อรัง และลดอุบัติการของภาวะแทรกซ้อนและการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาได้         

อุบัติการ
โรคไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์  ประมาณกันว่าประชากรทั่วไป 1 ใน 8 คน  จะเป็นโรคไซนัสอักเสบในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต  อุบัติการของการเกิดไซนัสอักเสบ   มีแนวโน้มที่เกิดมากขึ้นในฤดูกาลที่มีคนเป็นไข้หวัดหรือมีการอักเสบติดเชื้อ ในทางเดินหายใจมาก  อุบัติการของไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียใน ผู้ใหญ่ที่เกิดตามหลังไข้หวัดพบได้ประมาณร้อยละ 0.5-2 และในเด็กพบได้ประมาณร้อยละ 5-10   สำหรับโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังนั้น  ในกลุ่มประชากรทั่วไปพบโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังประมาณร้อยละ 1.2-6  

สาเหตุของไซนัสอักเสบ
1.       การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของไซนัสอักเสบชนิด   เฉียบพลัน
2.       การติดเชื้อของฟันกรามแถวบน มักทำให้เป็นไซนัสอักเสบข้างเดียว
3.       การว่ายน้ำ – ดำน้ำ โดยเฉพาะขณะมีการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน
4.       สิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก มักทำให้เป็นไซนัสอักเสบข้างเดียว โดยเฉพาะในเด็ก
5.       การเปลี่ยนแปลงความดันของบรรยากาศภายนอกอย่างรวดเร็ว
6.       อุบัติเหตุของกระดูกบริเวณใบหน้า
7.       ปัจจัยที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่นบริเวณที่ ฝุ่น ควัน หรือสิ่งระคายเคืองมาก
8.       ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันและภูมิต้านทานของร่างกาย เช่นภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีภูมิต้านทานต่ำ
9.       ปัจจัยที่เกี่ยวกับการถ่ายเทและการระบายสารคัดหลั่งและอากาศของไซนัส ได้แก่ โรคหรือภาวะใดก็ตามที่ทำให้มีการอุดตันหรือรบกวนการทำงานของรูเปิดของไซนัส เช่น
9.1)      มีการบวมของเยื่อบุจมูกบ่อยๆ หรือเป็นเรื้อรังเนื่องจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และชนิดไม่แพ้, การสูบบุหรี่ หรือสูดควันบุหรี่, การสัมผัสกับมลพิษเป็นประจำ 
9.2)      มีผนังกั้นช่องจมูกคดงอ
9.3)      กระดูกที่ผนังด้านข้างโพรงจมูกมีขนาดใหญ่มาก จนไปอุดตันรูเปิดของไซนัส
9.4)      มีก้อนเนื้อในโพรงจมูกหรือไซนัส เช่น  ริดสีดวงจมูก  เนื้องอกในโพรงจมูกหรือไซนัส
9.5)      ในเด็กเล็ก อาจมีต่อมแอดีนอยด์โต หรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูกเป็นเวลานาน
9.6)      ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจทางจมูก หรือต้องคาสายให้อาหารในโพรงจมูกเป็นระยะเวลานาน
9.7)      ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของขนกวัดที่ทำหน้าที่กำจัดสารคัดหลั่งและสิ่งแปลกปลอม
ในโพรงจมูกและโรคไซนัสเช่น มีการทำงานที่ผิดปกติไป

ไซนัสอักเสบเกิดได้อย่างไร
ไซนัสจะมีช่องทางติดต่อกับโพรงจมูก    โดยผ่านทางรูเปิดธรรมชาติ      โรคไซนัสอักเสบเกิดจาก การอุดกั้นของรูเปิดระหว่างจมูกและไซนัสดังกล่าว  ทำให้มีการคั่งของสารคัดหลั่งภายในไซนัส   ทำให้กลไกการพัดโบกของขนกวัดที่เยื่อบุไซนัสผิดปกติไป และอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน   หรือร่างกายไม่สามารถสร้างสารคัดหลั่งของไซนัสที่ดีและมีคุณภาพในการต่อต้าน การติดเชื้อได้ ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุไซนัสตามมา
โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันหมายถึงมีการอักเสบของเยื่อบุไซนัสที่ เปนมานอยกวา 4       สัปดาห และอาการหายไปอยางสมบูรณ     ส่วนไซนัสอักเสบเรื้อรังคือ การที่มีเยื่อบุของไซนัสอักเสบเป็นระยะเวลามากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไปทั้งๆ ที่ให้การรักษาโดยการให้ยาเต็มที่แล้ว                   พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในเยื่อบุไซนัสของผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรังนั้น  พบว่ามีการอักเสบและการทำลายของเยื่อบุไซนัส และสูญเสียขนกวัดที่ทำหน้าที่กำจัดสารคัดหลั่งและสิ่งแปลกปลอม

การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ
การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ อาศัยประวัติ, การตรวจร่างกาย และ การสืบค้นเพิ่มเติม  
ประวัติที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่  เป็นหวัดมานานมากกว่า 7-10 วัน,  เป็นหวัดที่มีอาการรุนแรงมาก,  ไข้สูง,  คัดจมูก, มีน้ำมูกเหลืองข้น,  ได้กลิ่นลดลง, ปวดหรือตื้อทึบบริเวณโหนกแก้มคล้ายปวดฟันบน, ปวดรอบๆจมูก  หัวคิ้ว หรือหน้าผาก, เจ็บคอ, เสมหะไหลลงคอ, ไอ, ปวดศีรษะ, อาการทางจมูกที่ไม่ดีขึ้นหลังให้ยาหดหลอดเลือด  โดยมีอาการดังกล่าวภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน   ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังมักมีอาการไม่เฉพาะเจาะจงเช่น คัดจมูก, การรับกลิ่นลดลงหรือไม่ได้กลิ่น, มีน้ำมูกสีเขียวเหลืองในจมูกหรือไหลลงคอ, ปวดศีรษะ, มีกลิ่นปาก, ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น, ลิ้นเป็นฝ้า, คอแห้ง, มีเสมหะในคอ, เจ็บคอ ระคายคอเรื้อรัง, ไอ, ปวดหูหรือ หูอื้อ  อาจแยกได้ยากจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้
ลักษณะที่พบจากการตรวจร่างกายที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบเฉียบ พลัน ได้แก่ มีการกดเจ็บบริเวณไซนัสที่อักเสบ, เห็นน้ำมูกเหลืองข้นไหลลงคอ, เยื่อบุจมูกที่อักเสบบวมแดงมาก หรือมีหนองคลุม    ส่วนโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังนั้นมักจะไม่มีอาการกดเจ็บบริเวณไซนัส  การตรวจในช่องจมูกอาจพบน้ำมูกเหลืองในจมูกหรือโพรงหลังจมูก และเยื่อบุจมูกที่อักเสบบวมได้ 
การสืบค้นเพิ่มเติมที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ ได้แก่ การส่งถ่ายภาพรังสีไซนัส             การส่งทำเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) บริเวณจมูกและไซนัส ซึ่งมีประโยชน์ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนของโรคไซนัสอักเสบ ,  ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันเป็นๆ หายๆหรือ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง และก่อนทำการผ่าตัดรักษาไซนัสอักเสบด้วยกล้องเอ็นโดสโคป         การใช้กล้องเอ็นโดสโคปส่องตรวจในโพรงจมูก ดูรูเปิดของไซนัสว่ามีหนองไหลออกมาหรือไม่ ก็มีประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัยโรค    นอกจากนั้นการส่องกล้องยังช่วย เก็บสารคัดหลั่ง หรือหนอง เพื่อส่งตรวจหาเชื้อและความไวต่อยาต้านจุลชีพ,  หาความผิดปกติทางกายวิภาคที่เป็นสาเหตุของโรคไซนัสอักเสบ และช่วยในการผ่าตัดโดยทำให้เห็นบริเวณที่ผ่าตัดชัดขึ้น และช่วยในการติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยด้วย

การรักษาโรคไซนัสอักเสบ
จุดมุ่งหมายของการรักษาไซนัสอักเสบคือ บรรเทาอาการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และป้องกันภาวะแทรกซ้อน หรือการกลับเป็นซ้ำของโรค
หลักในการรักษาโรคไซนัสอักเสบ ประกอบด้วย
1.       กำจัดเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ  โดยการ ให้ยาต้านจุลชีพ  เพื่อทำให้อาการของโรคดีขึ้นเร็ว   การเลือกชนิดของยาต้านจุลชีพขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ, การดำเนินโรค,  ความไวต่อยาต้านจุลชีพของเชื้อนั้นๆ และ อุบัติการของการดื้อยา     ระยะเวลาของการให้ยาต้านจุลชีพนั้น  ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันควรให้ยาต้านจุลชีพอย่างน้อย 10-14 วัน หรือให้จนผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติแล้วให้ต่ออีก 1 สัปดาห์หลังจากนั้น     ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังควรให้ยาต้านจุลชีพเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3-6 สัปดาห์
2.       ทำให้การไหลเวียนของสารคัดหลั่งและอากาศภายในไซนัสดีขึ้น
2.1      ยาหดหลอดเลือด ทำให้การบวมของเยื่อบุจมูกลดลง,  บรรเทาอาการคัดจมูก ทำให้รูเปิดของไซนัสโล่งขึ้น  อาจให้ในรูปยาพ่นหรือยาหยอดจมูก หรือ ยารับประทาน หรือให้ร่วมกันทั้งสองชนิดก็ได้    สำหรับยาหดหลอดเลือดที่พ่นหรือหยอดจมูก ไม่ควรใช้นานกว่า 7 วัน เพราะจะทำให้เยื่อบุจมูกเสียได้   ส่วนยาหดหลอดเลือดชนิดรับประทาน  ควรระวังผลข้างเคียง เช่น ความดันโลหิตสูง  หัวใจเต้นเร็ว  นอนไม่หลับ  กระสับกระส่ายด้วย
2.2      ยาสตีรอยด์พ่นจมูก อาจมีประโยชน์ใน รายที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือ ไซนัสอักเสบเป็นๆ หายๆ โดยเฉพาะถ้ามีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือชนิดที่ไม่แพ้ร่วมด้วย            ยาพ่นจมูกดังกล่าวจะช่วยลดการอักเสบในจมูก  ทำให้รูเปิดของไซนัส ที่มาเปิดในโพรงจมูกโล่งขึ้น  ช่วยให้การไหลเวียนของอากาศ  การระบายของสารคัดหลั่งหรือ หนองที่อยู่ภายในไซนัสดีขึ้น
2.3    ยาต้านฮิสตะมีน ไม่แนะนำให้ใช้ ยาต้านฮิสตะมีนรุ่นเก่าในผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ที่ไม่ได้มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย   เนื่องจากอาจทำให้น้ำมูกและสารคัดหลั่งแห้งและเหนียวได้  ในรายที่มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย  ควรเลือกใช้ยาต้านฮิสตะมีนรุ่นใหม่  เนื่องจากมีผลข้างเคียงดังกล่าวค่อนข้างน้อย 
2.4     ยาละลายมูกหรือเสมหะ ยังไม่มีการศึกษาที่แสดงถึงประสิทธิภาพของยาละลายมูกในการรักษาโรค ไซนัสอักเสบชัดเจน
2.5    การล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ  เป็นการชะล้างเอาน้ำมูก หนอง  สิ่งสกปรกในจมูก ซึ่งเกิดจากการอักเสบในโพรงจมูกและไซนัสออก  เพื่อให้โพรงจมูกและบริเวณรูเปิดของไซนัสโล่ง   ทำให้การพัดโบกของขนกวัดที่เยื่อบุจมูกดีขึ้น อาการต่างๆ ของผู้ป่วยจะดีขึ้นเร็ว
2.6    การสูดดมไอน้ำเดือด จะช่วยทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม  โล่ง  อาการคัดจมูกน้อยลง  อาการปวดตื้อๆ ที่ศีรษะดีขึ้น   นอกจากนั้นยังทำให้การพ่นยาเข้าไปในจมูก มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.7    การผ่าตัด   ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่ เป็นโรคไซนัสอักเสบ มักจะหายได้โดยการใช้ยาอย่างเต็มที่  ส่วนน้อยที่ต้องรับการผ่าตัด  ดังนั้นในการรักษาจึงพยายามใช้ยาอย่างเต็มที่ก่อน   การผ่าตัดเป็นการแก้ไขพยาธิสภาพที่ทำให้รูเปิดระหว่างโพรงจมูกและไซนัสอุด ตัน
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด
  • ผู้ป่วยที่ต้องการเชื้อไปส่งตรวจหาชนิดและความไวต่อยาต้านจุลชีพของเชื้อ
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยให้ยาอย่างเต็มที่แล้ว ผู้ป่วยไม่ดีขึ้น(ผู้ป่วยไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่รักษาด้วยยาเต็มที่แล้วไม่ หาย  ภายใน 3 – 4 สัปดาห์ หรือ ผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรังที่รักษาด้วยยาเต็มที่แล้วไม่ได้ผล  ภายใน 4 – 6 สัปดาห์)  หรือมีการอักเสบเป็นซ้ำหลายๆ ครั้ง  
  • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก มีไข้ขึ้นสูง หรือมีภาวะแทรกซ้อนของไซนัสอักเสบ
  • ผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่มีริดสีดวงจมูกร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อรา
  • ผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่มีความผิดปกติของโครงสร้างทางกายวิภาคภายในโพรงจมูก  ซึ่งทำให้เกิดการอุดตันของรูเปิดไซนัส
3.       รักษาโรคหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบ เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้แก่
3.1)   ความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย      ต้องแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้ดี จะได้มีภูมิคุ้มกันของร่างกาย     โดยให้พักผ่อนให้เพียงพอ   รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ   เพื่อให้ความต้านทานโรคดีขึ้น โอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อน้อยลง
3.2)   เมื่อมีการติดเชื้อขึ้นในทางเดินหายใจส่วนบน  เช่น  เป็นหวัด  คออักเสบ  ต่อมทอนซิลอักเสบ  หรือฟันผุ   ต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็ว เพื่อไม่ให้การอักเสบนั้นลุกลามไปถึงไซนัสได้
3.3)   ผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือชนิดไม่แพ้  ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ให้ผู้ป่วยรู้จักวิธีปฏิบัติตัวและดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
3.4)  ผู้ป่วยที่มีผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีความผิดปกติทางกายวิภาคอื่นๆในจมูก หรือมีริดสีดวงจมูก   ควรให้การรักษาด้วยยาหรือผ่าตัดให้เหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป
โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากไซนัสอักเสบ มีดังนี้
1.  โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากการที่โรคไซนัสอักเสบมีผลต่อเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง
1.1  ภาวะผิดปกติของหูชั้นกลาง  เช่น
1.1.1    ท่อยูสเตเชียนไม่ทำงาน
1.1.2    หูชั้นกลางอักเสบแบบมีน้ำขัง
1.1.3    หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
1.2  การอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุลำคอ
1.3  กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง
1.4  ไอเรื้อรัง
1.5  หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
1.6  โรคหืด
2.    โรคแทรกซ้อนทางตา เช่นฝีในเบ้าตา
3.    โรคแทรกซ้อนทางสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ฝีในสมอง
4.     โรคแทรกซ้อนทางกระดูก เช่น กระดูกและไขกระดูกบริเวณไซนัสอักเสบ
โดยสรุปไซนัสอักเสบเป็นปัญหาที่ เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยทุกอายุทั้งเด็กและผู้ใหญ่  การให้การวินิจฉัยในระยะแรกที่เริ่มเป็น  และให้การรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่  จะช่วยให้ไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันหายได้เป็นส่วนใหญ่  และป้องกันการกลายเป็นไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง   ในรายที่เป็นแบบเรื้อรังมักจะต้องให้การรักษาด้วยยาร่วมกับการเจาะล้างหรือ การผ่าตัดไซนัสจึงจะได้ผล
ในการรักษาไซนัสอักเสบ  นอกเหนือจากการรักษาการติดเชื้อในไซนัสแล้ว     จะต้องรักษาปัจจัยที่เป็นสาเหตุ  หรือเป็นตัวส่งเสริมการเกิดไซนัสอักเสบด้วย   จึงจะสามารถรักษาไซนัสอักเสบให้หายขาด  และป้องกันการกลับเป็นซ้ำ  ซึ่งก็จะช่วยลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากไซนัสอักเสบด้วย   นอกจากนี้ยังต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจโรคที่ตนเองเป็นอยู่   ตลอดจนการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และรักษาอย่างต่อเนื่อง จึงจะทำให้การรักษาไซนัสอักเสบได้ผลอย่างเต็มที่
 
มารู้จักไซนัสอักเสบในเด็กและวิธีรักษาที่ถูกต้องกันเถอะ

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ไซนัสคืออะไร
            ไซนัสเป็นโพรงอากาศในกะโหลก ซึ่งพบได้ที่หัวคิ้วขอบจมูกและโหนกแก้ม หน้าที่ปกติของโพรงไซนัสไม่เป็นที่ทราบแน่นอน  แต่อาจทำให้กะโหลกเบา  เสียงก้อง  สร้างเมือกและภูมิคุ้มกันให้กับโพรงจมูก  โดยปกติเมือกโพรงไซนัสจะไหลเข้าสู่โพรงจมูก ผ่านช่องเล็ก ๆ (Ostium) ที่ผนังข้างจมูกเพื่อใช้ในการต่อสู้เชื้อโรคและระบายสิ่งแปลกปลอมจากจมูกลง สู่ลำคอ หรือออกทางจมูก

การเกิดไซนัสอักเสบ
            เมื่อจมูกเกิดอาการบวม เช่น เป็นหวัด จมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูก จะทำให้ช่องติดต่อระหว่างโพรงไซนัสและจมูกดังกล่าวอุดตันและเกิดคั่งค้างของ น้ำเมือกในโพรงไซนัส และเมื่อเชื้อโรคจากจมูกเข้าสู่โพรงไซนัสได้ก็จะแบ่งตัว และทำให้เกิดการติดเชื้อของโพรงไซนัสและมีหนองเกิดขึ้น ทำให้จมูกบวมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรียกว่าเกิดโรค“ไซนัสอักเสบ” อาการของโรคไซนัสอักเสบอาจแตกต่างกันระหว่างในเด็กและผู้ใหญ่ โดยในผู้ใหญ่จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ และอ่อนเพลียได้มากกว่าในผู้ป่วยเด็ก ซึ่งมักไม่ค่อยมีอาการดังกล่าว เมื่อช่อง (Ostia) ที่ติดต่อระหว่างโพรงไซนัสและจมูกเปิดออกเป็นครั้งคราว หนองและเมือกจากโพรงไซนัสก็จะไหลลงสู่จมูกและคอทำให้เด็กเกิดอาการดังนี้
     • น้ำมูกไหลโดยสีของน้ำมูกอาจเป็นสีเขียว เหลือง หรือขาวเป็นมูก
     • ไอ เพราะเมือกหรือหนองไหลลงคอ กระตุ้นให้เกิดอาการไอโดยเฉพาะตอนนอนในกลางคืน
     • ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น

การรักษาโรคไซนัสอักเสบ ประกอบด้วยหลักใหญ่ 3 ประการคือ
1.  การให้ยาฆ่าเชื้อโรค (ยาปฏิชีวนะ = ยาแก้อักเสบ)
2.  การทำโพรงจมูกที่บวมให้ยุบลง เพื่อให้หนองในโพรงไซนัสไหลถ่ายเทออกมาให้หมด
3.  การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
        1.  การให้ยาฆ่าเชื้อโรค (ยาปฏิชีวนะ = ยาแก้อักเสบ) แพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้ยาเหล่านี้ตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละคน ระยะเวลาในการใช้ยาจะนานกว่าการรักษาการติดเชื้อของระบบหายใจตามปกติ อาจจะให้นานถึง 3-6 สัปดาห์ ตามที่แพทย์จะแนะนำ ซึ่งจะต้องรักษาจนหนองหมดไปจากโพรงไซนัส
        2.  การทำโพรงจมูกที่บวมให้ยุบลง เพื่อให้หนองในโพรงไซนัสไหลถ่ายเทออกมาให้หมด การทำให้โพรงจมูกลดบวมทำได้โดย  การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ  การใช้ยาพ่นจมูก   การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือทำได้ง่าย ๆ โดย
          -  หาซื้อน้ำเกลือหรืออาจผสมขึ้นเองง่าย ๆ โดยใช้น้ำสะอาด 750 cc. ผสมกับเกลือสะอาด 1 ช้อนช้า หรืออาจใช้ 0.9% normal saline ที่ไม่มีน้ำตาลผสมอยู่
         -  เทน้ำเกลือลงในแก้วสะอาด
         -  ดูดน้ำเกลือจากแก้วสะอาดเข้าในลูกยางหรือหลอดฉีดยา (Syringe)
         -  พ่นน้ำเกลือจากลูกยางหรือหลอดฉีดยาเข้าในจมูกในท่าก้มหน้า กลั้นหายใจในระหว่างฉีดน้ำเกลือเข้าสู่จมูก
         -  ทำซ้ำจนน้ำมูกหมด ปฏิบัติวันละ 2-3 ครั้ง ตามคำแนะนำของแพทย์
         -  บางครั้งแพทย์อาจสั่งยาพ่นจมูก หรือยาล้างจมูกให้ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์
        3.  การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
         -  ผู้ป่วยที่เป็นโรคไซนัสอักเสบจำนวนหนึ่ง (อาจถึงร้อยละ 50) อาจจะมีอาการของโรคไซนัสอักเสบที่เนื่องมากจากโรคภูมิแพ้ของจมูก ซึ่งจะทำให้จมูกบวมและมีอาการติดเชื้อตามมา ผู้ป่วยดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงสารแพ้จากไรฝุ่นตามคำแนะนำของแพทย์
         -  ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง ควันบุหรี่ การติดเชื้อจากคนรอบข้าง การอยู่ในที่แออัด การว่ายน้ำในสระที่ไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ

การติดตามผลการรักษา
       เป็นสิ่งที่สำคัญมากผู้ป่วยควรจะต้องมารับการประเมินผลการรักษาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง

0 comments:

Post a Comment