12.4.12

ตรวจร่างการ "ทุกส่วน" จำเป็นแค่ไหน?

เทคโนโลยีการแพทย์เข้ามามีบทบาทสำคัญคอย "เฝ้าระวัง"" สุขภาพร่างกายให้รู้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถรักษาโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแสดงอาการ

รู้จักเจ้าเครื่องตรวจมะเร็ง เต้านมด้วยเครื่องมือที่เรียกชื่อว่า "แมมโมแกรม" ไหม? ถ้านึกไม่ออกลองนึกถึงแผ่นไม้ที่แม่ค้าใช้ทับกล้วยทับ นั่นแหละใกล้เคียงที่สุด แต่เปลี่ยนจากกล้วยมาเป็นเต้านมแทน คนที่เคยผ่านประสบการณ์มาแล้วบอกเจ็บชะมัด

นั่นยังไม่ประหลาดเท่ากับทิ้งตัวลงนอนราบบนแผ่นพลาสติก แล้วมันค่อย ๆ เลื่อนเข้าไปในอุโมงค์ อ๋อ เขาเรียกกันว่า เครื่อง PET Scan ไม่ได้เอาไว้ถ่ายสำเนาภาพสัตว์เลี้ยงเหมือนอย่างชื่อหรอก แต่ส่องดูการทำงานของอวัยวะราวกับส่องด้วยแว่นวิเศษ

บอก ไว้อีกอย่างเผื่อว่าวันหน้าวันหลังคุณมีอาการ ที่แพทย์สันนิษฐานว่า เป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือทับเส้น งานนี้ต้องพึ่งบริการเครื่อง MRI ส่องให้เห็นกันชัดเจนไปเลย อย่างโบราณว่า "สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น"

รศ.พญ.จิร พร เหล่าธรรมทัศน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านรังสีวินิจฉัย ศูนย์ไอแมค คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า เวลาตัดสินใจรับการตรวจ ควรต้องดูก่อนว่า ตนเองมีอาการผิดปกติที่บ่งบอกว่า ต้องรีบเข้ารับการวินิจฉัย ตรวจรักษาหรือไม่ เช่น ครอบครัวมีประวัติเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด หรือไม่

"สิ่งสำคัญคือ ผลตรวจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการรักษา ถ้าตรวจแล้วไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนการรักษา เช่น เป็นโรคหัวใจตีบควรจะตรวจเพื่อนำไปสู่การรักษา ถ้าตรวจรู้ว่าเป็น อาจจะต้องผ่าตัด หรือต้องทำบอลลูน แต่ถ้าเป็นคนปกติก็ไม่จำเป็นต้องไปตรวจ "

แต่เธอยอมรับอยู่กลาย ๆ ว่า เทคโนโลยีการแพทย์เข้ามามีบทบาทสำคัญคอย "เฝ้าระวัง" สุขภาพร่างกายให้ รู้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถรักษาโรคได้ ตั้งแต่ระยะเริ่มแสดงอาการ บางครั้งถึงไม่มีสัญญาณบอกว่ามีความเสี่ยง แต่ก็อาจจำเป็น ไม่ใช่รอจนกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้เสียก่อน

นั่นคือ เหตุผลที่ต้องตรวจด้วย อุปกรณ์สุดไฮเทค และเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่ารายได้ต่อหัวของประเทศ ข้อดีคือ รักษาแต่เนิ่น ๆ มีโอกาสสูดลมหายใจอีกนาน และค่าใช้จ่ายเพื่อพยุงชีวิตอาจต่ำกว่า การรักษาเมื่อโรคลุกลาม

"ยกตัวอย่าง คนที่เป็นโรคตับอักเสบบี หรือ ซี เรื้อรัง หรือตับแข็ง มีโอกาสจะเป็นโรคมะเร็งตับสูง หลายคนจึงก้าวเข้าสู่โหมดของการตรวจหามะเร็งตับ หรือยังในระยะเริ่มต้น เพื่อสามารถรักษาได้ทันเวลา"

เครื่องมือตรวจหา มะเร็งตับ มีตั้งแต่ราคาถูกที่สุดคือการทำ “อัลตร้าซาวด์” ซึ่งรศ.พญ.จิรพร บอกว่า ต้องอยู่ในมือแพทย์มือดี เพราะโอกาสที่จะพลาดได้เหมือนกัน ส่วนอุปกรณ์ตัวที่สองคือ เอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ ข้อเสีย คือต้องฉีดสารทึบรังสี คนไข้ที่แพ้อาจมีปัญหาผื่นคัน ส่วนวิธีที่สาม คือ การตรวจผ่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารทึบรังสี

"เครื่อง มือพวกนี้เป็นเทคโนโลยีที่ดี แต่ต้องเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่สำหรับทุกคน ที่สำคัญบุคลากรที่ใช้เครื่องมือ ถือเป็นหัวใจหลัก สำหรับอ่านผลตรวจ เวลาที่เข้าไปใช้บริการ ควรคำนึงถึงศักยภาพเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะต่อให้เครื่องดีขนาดไหน ถ้าคนอ่านไม่เชี่ยวชาญ โอกาสที่ผิดพลาดเกิดขึ้นได้"

ผศ. นพ. เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นด้วยว่าเทคโนโลยีมันมีประโยชน์ แต่ยังอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทุกคนควรใช้มันหรือเปล่า??

"มัน จะต้องมีการคัดเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสม เช่น เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง มีอาการน่าสงสัย การใช้เทคโนโลยีจะช่วยได้มาก เทคโนโลยีที่ดีขึ้น จะทำให้อัตราการตายลดลง เจ็บตัวน้อย แต่ว่าเมื่อเอามาใช้กับประชากรทั่วไป ที่มีความเสี่ยงต่ำในการที่เกิดโรค ปัญหาที่ตามก็คือ จะก่อให้เกิดผลบวกลวง”

สิ่งที่เรียกว่า "ผลบวกลวง” หรือพูดง่าย ๆ ว่า "เป็นไม่จริง" ส่งผลให้ผู้เข้ารับการตรวจเครียด และความกังวล และอาจเจ็บตัวจากการตรวจ มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น สารพัดปัญหา

ฉะนั้น ต้องพิสูจน์ให้เห็นก่อนว่า การตรวจด้วยอุปกรณ์การแพทย์ไฮเทค ทำแล้วมันก่อให้เกิดประโยชน์จริงหรือไม่

"ประเทศ ไทยหมดเงินไปกับค่ายา อุปกรณ์ทางการการแพทย์มากเกินความจำเป็นมากมาย เพราะความเชื่อแบบผิด ๆ ที่ว่า "เงินสามารถซื้อสุขภาพได้" ความจริงแล้ว "เงินซี้อยาได้ แต่ซื้อสุขภาพไม่ได้ เพราะสุขภาพดีสร้างได้ด้วยตัวเราเอง"

ฉะนั้น ก่อนที่จะสายเกินไป สิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่การตรวจหาโรค แต่อยู่ที่การป้องกันไม่ให้เกิดโรค เช่น การออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักให้เป็นในเกณฑ์ปกติ การควบคุมอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรค

0 comments:

Post a Comment